ก๊วน Writer

"ศรีบูรพา"-กุหลาบ สายประดิษฐ์

by Pookun @April,24 2007 23.17 ( IP : 58...52 ) | Tags : ก๊วน Writer

สุภาพบุรุษ-มนุษยภาพ

"ศรีบูรพา"-กุหลาบ สายประดิษฐ์

เรื่อง : สุชาติ สวัสดิ์ศรี

"ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น"

"ศรีบูรพา" : เล่นกับไฟ

(พิมพ์ครั้งแรก : เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ : สิงหาคม ๒๔๗๑)


"ความซื่อตรง คือความจริง ความจริง คือความซื่อตรง"

กุหลาบ สายประดิษฐ์ : มนุษยภาพ

(พิมพ์ครั้งแรก : ศรีกรุง : ๑๐ มกราคม ๒๔๗๔)


เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๔ ที่ผ่านมา ถ้าหาก กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะมีอายุครบ ๘ รอบนักษัตร หรือเท่ากับ ๙๖ ปี ถ้าหากถือเอาวันมรณกรรมของเขามากำหนด วันที่ ๑๖ มิถุนายน ปีนี้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้ละสังขารจากบรรณพิภพแห่งสยามประเทศไปแล้วเป็นเวลา ๒๗ ปี ตามธรรมเนียมปฏิบัติในการรำลึกถึง ส่วนใหญ่แล้วมักถือเอาวันเกิดมากำหนดมากกว่าวันตาย เพราะถือเป็นวันเริ่มต้นแห่งชีวิตและผลงานของบุคคลนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ในวันครบ ๘ รอบนักษัตรของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ปีนี้จึงได้มีคณะบุคคลคณะหนึ่งจัดงานรำลึกถึงเขา โดยถือเป็นหมุดหมายทางวรรณกรรมที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องพร้อมกันสามเรื่อง คือ

๑. เป็นวาระครบ "๙๖ ปี ชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์"

๒. เป็นวาระเกี่ยวข้องกับการก่อเกิดนักเขียน นักประพันธ์ คณะสุภาพบุรุษ ที่ถือเอาหนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ ฉบับปฐมฤกษ์ ซึ่งออกจำหน่ายเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๗๒ มาเป็นหลักบอกเขต อีกทั้งหนังสือในรูปแบบ "นิตยสารรายปักษ์" เล่มนี้ก็มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นทั้งเจ้าของและบรรณาธิการ ดังนั้นในวันที่ ๑ มิถุนายน ปีนี้ คณะสุภาพบุรุษ จึงมีกำเนิดมาครบหกรอบนักษัตร หรือ ๗๒ ปี

และ ๓. เป็นวาระต่อเนื่องตามมา เนื่องจากวันที่ ๑๕ สิงหาคม ปีนี้ ถ้าหาก อบ ไชยวสุ ที่รู้จักกันในนามปากกา "ฮิวเมอริสต์" หนึ่งใน คณะสุภาพบุรุษ ยังมีชีวิตอยู่ เขาก็จะมีอายุครบ ๑๐๐ ปี ดังนั้นจึงถือเป็นความสำคัญร่วมกันหลายประการในงานชุมนุมช่างวรรณกรรมประจำปี ๒๕๔๔ ที่ได้จัดขึ้น ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยถือเอาวาระสำคัญทั้งสามมารวมอยู่ในงานวันเดียวกัน และได้จัดให้มีกิจกรรมและนิทรรศการว่าด้วย "นักเขียนเก่า หนังสือเก่า" อย่างเอิกเกริก

รวมทั้งถือเป็นวันประกาศเกียรติให้แก่ "จูเลียต" ชนิด สายประดิษฐ์ "สตรีผู้อยู่เคียงข้างสุภาพบุรุษ" และ เสาว์ บุญเสนอ นักเขียนใน คณะเพลินจิตต์ และ คณะประมวญฯ ที่แต่ครั้งอดีตเคยอยู่ร่วมสมัยเดียวกับ คณะสุภาพบุรุษ โดยเชิดชูให้บุคคลทั้งสองเป็น "นักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ" ประจำปี ๒๕๔๔ ไปพร้อมกัน

ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติชีวิตและผลงานของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ค่อนข้างเป็นทางการครั้งแรก เนื่องจากเป็นการเล่าและบันทึกมาจากผู้ใกล้ชิดโดยตรง คือจาก ชนิด สายประดิษฐ์ ผู้เป็นภรรยา และจาก พ.ญ. สุรภิณ ธนะโสภณ ผู้เป็นบุตรสาว (ซึ่งได้เก็บประวัติมาจากการเล่าของนางจำรัส นิมาภาส พี่สาวคนเดียวของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ อีกต่อหนึ่ง) ข้อมูลจากความทรงจำทั้งสองส่วนนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร โลกหนังสือ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ การเขียนประวัติชีวิตและผลงานของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในชั้นหลังต่อมา ส่วนใหญ่มักอ้างอิงมาจากแหล่งข้อมูลชั้นต้นส่วนนี้

นอกจากนั้นต่อมาภายหลังยังมีหลักฐานเพิ่มเติมมาจากเอกสารลายมือที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เขียนขึ้นในชื่อ บรรทึกการแต่งหนังสือ ซึ่งถือเป็นการให้หลักฐานชั้นต้นที่มาจากเจ้าของผลงานโดยตรง แต่กระนั้นก็ถือเป็นเพียง "บันทึก" ในระยะเริ่มต้นชีวิตการประพันธ์ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เท่านั้น ข้อมูลจาก "บันทึก" ส่วนนี้ เจ้าของบันทึกได้เขียนไว้ในสมุดนักเรียนเล่มบาง ๆ ระบุเวลาเกี่ยวกับเรื่องการแต่งหนังสือและเรื่องอื่น ๆ ตั้งแต่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๖๕ จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ดังนั้นจึงถือเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิต และผลงานบางส่วนของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในช่วงเริ่มต้นการเขียนหนังสือ เมื่ออายุ ๑๗-๒๓ ปีอย่างถูกต้องที่สุดเป็นครั้งแรก (๑)


ชีวิตวัยดรุณ

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดเมื่อปีมะโรง วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ (๒) เป็นคนจังหวัดกรุงเทพฯ พ่อชื่อสุวรรณ เป็นเสมียนเอก ทำงานอยู่กรมรถไฟ แม่ชื่อสมบุญ เป็นชาวนาอยู่จังหวัดสุพรรณบุรี พี่น้องทางแม่มีอาชีพทำนา แต่นางสมบุญคนเดียวที่ไม่ชอบทำนา เมื่อโตเป็นสาวจึงเข้ามาอยู่กับญาติที่กรุงเทพฯ เล่ากันว่าเคยอยู่ในวังเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา หรือ "วังสวนกุหลาบ" ที่ถนนประชาธิปไตย จนได้พบกับนายสุวรรณ และได้แต่งงานกัน ต่อมาได้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านพ่อของนายสุวรรณ ซึ่งเป็นหมอยาตาแผนโบราณ มีบ้านเป็นเรือนแฝดสองหลังอยู่ในตรอกพระยาสุนทรพิมล ใกล้ ๆ หัวลำโพง นายสุวรรณกับนางสมบุญ ได้ให้กำเนิดบุตรสองคน คนโตเป็นหญิง ชื่อ จำรัส นิมาภาส (แต่งงานกับนายกุหลาบ นิมาภาส) ส่วนคนเล็กเป็นชาย ชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ภายหลังต่อมา สี่ชีวิตพ่อแม่ลูกได้แยกครอบครัวมาเช่าห้องแถวที่เป็นของพระยาสิงหเสนีอยู่แถว ๆ หัวลำโพง

เมื่ออายุสี่ขวบ กุหลาบเริ่มต้นเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนวัดหัวลำโพง จนถึงชั้นประถม ๔ นายสุวรรณได้ช่วยสอนหนังสือให้ลูกชายคนเดียวก่อนเข้าโรงเรียนด้วย เนื่องจากทำงานอยู่กับผู้จัดการฝรั่งที่กรมรถไฟ นายสุวรรณจึงพอพูดภาษาอังกฤษได้ เข้าใจว่ากุหลาบคงจะได้อิทธิพลเรื่องการเรียนรู้ภาษาอังกฤษมาจากพ่อของเขาไม่มากก็น้อย แต่พ่อของกุหลาบอายุสั้น ป่วยเป็นไข้เสียชีวิตแต่เมื่ออายุเพียงแค่ ๓๕ ปี ตอนนั้นกุหลาบเพิ่งอายุหกขวบ แม่และพี่สาวได้เลี้ยงดูเขาต่อมา โดยแม่รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า และส่งพี่สาวไปฝึกเล่นละครรำ และละครร้อง เพื่อหาเงินมาช่วยจุนเจือและส่งเสียให้กุหลาบได้เรียนหนังสือโดยไม่ติดขัด กล่าวคือเมื่อจบชั้นประถม ๔ แม่ก็ได้เอากุหลาบไปฝากเข้าเรียนต่อที่ โรงเรียนทหารเด็ก ของกรมหลวงนครราชสีมา โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนประจำ สอนทั้งวิชาทั่วไปและวิชาทหาร กุหลาบได้เรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้สองปี แม่ก็รู้สึกสงสาร เพราะเห็นว่าลูกชายต้องอยู่เวรยามแบบทหาร และเห็นว่าอยากให้กุหลาบได้เรียนวิชาทั่วไปมากกว่า ดังนั้นจึงเอาออกจากโรงเรียนทหาร ให้มาอยู่ที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ โดยเริ่มต้นเรียนในชั้นมัธยม ๒ และได้เรียนเรื่อยมาจนจบชั้นมัธยม ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘

ชนิด สายประดิษฐ์ ได้เล่าไว้ในบันทึกที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร โลกหนังสือ (ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒ : พฤศจิกายน ๒๕๒๑) มีข้อความตอนหนึ่งว่า

"ศึกษาที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และจบ ม. ๘ ที่โรงเรียนนี้ ได้เห็นชีวิตลูกผู้ดี และลูกชาวบ้านที่โรงเรียนนี้ รักการเขียนหนังสือมาตั้งแต่อยู่โรงเรียนนี้ เมื่ออยู่มัธยมชั้นสูง ได้ทำหนังสืออ่านกันในชั้นเรียน มี มจ.อากาศดำเกิง และเพื่อนคนอื่นอีกทำร่วมด้วย ครั้งหนึ่งหลวงสำเร็จวรรณกิจจับได้ ขณะกำลังเข้าสอนในชั้นว่า นักเรียนกำลังอ่านอะไรกันอยู่ และได้ยึดเอาหนังสือไป รุ่งขึ้นได้เอามาคืนให้พร้อมกับให้เรื่องของหลวงสำเร็จฯ เอง..."

ในบันทึกของ พ.ญ. สุรภิณ ธนะโสภณ ที่นางจำรัส นิมาภาส ได้เล่าให้ฟัง ก็มีเหตุการณ์ตอนนี้กล่าวไว้เช่นกัน คือ

"ป๋าได้เริ่มหัดเขียนหนังสือตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยม ที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และได้ออกหนังสือชื่อ ดรุณสาร และ ศรีเทพ ร่วมกับเพื่อน เมื่อจบชั้นมัธยม ๘ จากโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ป๋าก็ได้ออกทำงานโดยทำหนังสือพิมพ์กับเพื่อน และได้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษตอนค่ำ ที่โรงเรียนสอนหนังสือไทย และอังกฤษของคุณแตงโม จันทวิมพ์ ชื่อโรงเรียนรวมการสอน และ สำนักรวมการแปล ซึ่งคุณโกศล โกมลจันทร์ เป็นผู้จัดการ..."

กำเนิดนาม "ศรีบูรพา"

เมื่อเริ่มอายุ ๑๗ คือในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ มีหลักฐานชั้นต้น ทื่เป็นลายมือของกุหลาบ สายประดิษฐ์คือ บรรทึกการแต่งหนังสือ ซึ่งได้ลำดับชีวิตการเริ่มต้นทำงานประพันธ์หาเลี้ยงชีพ ในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๕-๒๔๗๑ เป็นเวลารวมเจ็ดปี รายละเอียดเหล่านี้ทั้งหมด ได้นำมาแยกตีพิมพ์เป็นหลักฐานอยู่ในล้อมกรอบ

ข้อมูลจากหลักฐานในช่วงอายุ ๑๗-๒๓ ปีของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ทำให้เห็นถึงภาพชีวิตในช่วงนั้น ว่าเต็มไปด้วยพลังมุ่งมั่นที่ต้องการจะเป็นนักเขียน นักประพันธ์ และต้องการฝึกฝนตนเองอย่างเข้มงวด เริ่มต้นตั้งแต่การออกหนังสือพิมพ์ในห้องเรียน การเขียนบทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย เขียนเรื่องจากภาพยนตร์ กลอนเซียมซี กลอนลำตัด แปลหนังสือ และเริ่มชีวิตวัยหนุ่ม ในฐานะนักหนังสือพิมพ์อาชีพ ขณะเดียวกันก็ "ทดลองเรียนกฎหมาย" และฝึกฝน "การต่อยมวย" ไปพร้อมกันด้วย

ข้อมูลจากหลักฐาน บรรทึกการแต่งหนังสือ ชิ้นนี้ ทำให้ได้ทราบชีวิตวัยรุ่นของกุหลาบ อย่างเป็นรูปธรรมหลายประการ เช่น

พ.ศ. ๒๔๖๕ อายุ ๑๗ ปี เริ่มฝึกหัดการแต่งหนังสือ และทำหนังสือ โดยใช้พิมพ์ดีด

พ.ศ. ๒๔๖๖ อายุ ๑๘ ปี เริ่มเขียนบทกวี และเขียนเรื่องจากภาพยนตร์ ส่งไปให้หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์สยาม มีข้อมูลเกี่ยวกับนามปากกาที่เคยใช้ในช่วงนั้น อย่างเช่น "ดาราลอย", "ส.ป.ด. กุหลาบ", "นางสาวโกสุมภ์", "หนูศรี", "ก. สายประดิษฐ์", "นายบำเรอ" และ "หมอต๋อง"

พ.ศ. ๒๔๖๖ อายุ ๑๘ ปี เริ่มต้นใช้นามปากกา "ศรีบูรพา" เป็นครั้งแรก โดยเขียนงานชื่อ แถลงการณ์ ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ทศวารบรรเทิง ไม่ทราบเป็นงานเขียนประเภทใด แต่นั่นก็หมายความว่าในช่วงนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้มาทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ที่ โรงเรียนรวมการสอน และเป็นนักประพันธ์อยู่ใน สำนักรวมการแปล ของนายแตงโม จันทวิมพ์ แล้ว และเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในปีนี้ คือได้พบกับนักเขียนรุ่นพี่ ชื่อ บุญเติม โกมลจันทร์ (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "โกศล") บุญเติม หรือ โกศล ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการอยู่ที่สำนักทั้งสองนี้ มีชื่อเสียงเป็นนักแปล และนักเขียนกลอนลำตัดในรุ่นนั้น และเป็นผู้เริ่มใช้นามปากกาที่มีชื่อว่า ศรี นำหน้า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เด็กหนุ่มอายุ ๑๘ ผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักประพันธ์ จึงได้มาฝึกการประพันธ์อยู่ที่ "สำนัก" นี้ ด้วยความมุ่งหวังอยากเรียนรู้ และหารายได้จากงานเขียนไปจุนเจือครอบครัว ที่มีฐานะค่อนข้างยากจน พร้อมกันนั้นก็ได้ชักชวนเพื่อนร่วมรุ่นอีกสองคน คือ ชะเอม อันตรเสน และ สนิท เจริญรัฐ ให้มาช่วยกันที่ สำนักรวมการแปล ด้วย

บุญเติม หรือ โกศล โกมลจันทร์ เจ้าสำนักแห่งตระกูล "ศรี" มีนามปากกาเริ่มต้นตระกูล "ศรี" ของตนเองว่า "ศรีเงินยวง" ส่วนบรรดารุ่นน้องที่มาเข้าสำนัก เช่น ชะเอม อันตรเสน ได้นามปากกาว่า "ศรีเสนันตร์" สนิท เจริญรัฐ ได้นามปากกาว่า "ศรีสุรินทร์" และ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้นามปากกาว่า "ศรีบูรพา"

พ.ศ. ๒๔๖๗ อายุ ๑๙ ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยม ๘ ถ้าใช้หลักฐานจาก"บรรทึก" ที่ปรากฏ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ใช้นามจริงของตัวเองเป็นครั้งแรกในการเขียนกลอนหก ชื่อ ต้องแจวเรือจ้าง พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ของโรงเรียน ชื่อ แถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์ หนังสือพิมพ์โรงเรียนเล่มนี้ มีหลวงสำเร็จวรรณกิจ (บุญ เสขะนันท์) ซึ่งเป็นครูวิชาภาษาไทยของเขาเป็นบรรณาธิการ ครูภาษาไทยคนนี้ได้สร้างความประทับใจและแบบอย่างที่ดีให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ สืบต่อมาจนเมื่อเขาเขียนนวนิยายเรื่อง แลไปข้างหน้า (๒๔๙๗, ๒๕๐๐) ตัวละครที่เป็นครูชื่อ "ขุนวิบูลย์วรรณวิทย์" แห่งโรงเรียนเทเวศร์สฤษดิ์ นั้นก็ได้จำลองแบบมาจากครู "หลวงสำเร็จวรรณกิจ" แห่งโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์คนนี้ นอกจากนั้น งานเขียนกลอนหกเรื่อง ต้องแจวเรือจ้าง ที่ตีพิมพ์อยู่ใน แถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์ เมื่อปี ๒๔๖๙ ดังกล่าว ได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้อีกเช่นกันว่า "...เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่เปี่ยมไปด้วยความรักในแรงงานของมนุษย์ที่หล่อเลี้ยงโลก" (๓)

อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานในปีเดียวกัน ขณะที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม ๘ โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ กุหลาบก็ได้เริ่มใช้นามปากกา "ศรีบูรพา" เขียนบทประพันธ์ขายอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว ผลงานเรื่อง คุณพี่มาแล้ว ที่ปรากฏอ้างไว้ใน บรรทึกฯ ไม่ได้ระบุว่าเป็นงานประเภทใด แต่มีวงเล็บไว้ว่า "สองเล่มจบ" ทำให้เข้าใจต่อไปว่า น่าจะเป็นงานเขียนประเภท "นวนิยาย" และถ้าหากเป็นงานเขียนประเภท "นวนิยาย" จริง ข้อสันนิษฐานก็มีต่อไปว่า น่าจะเป็นงานเขียนนวนิยายเรื่องแรกของ "ศรีบูรพา" ด้วย ซึ่งข้อสันนิษฐานเรื่องนี้ตรงกับข้ออ้างอิงในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของ ดร. ขวัญดี รักพงษ์ (มหาวิทยาลัยลอนดอน ๑๙๗๕) (๔) และวิทยานิพนธ์เรื่อง กุหลาบ สายประดิษฐ์ จากวรรณกรรมสู่หนังสือพิมพ์ ของ นุสรา อะมะลัสเสถียร (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕๓๒) ที่ได้นำข้อความของ "ศรีบูรพา" จากคำนำนวนิยายเรื่อง คุณพี่มาแล้ว ของ "คณะรวมการแปล" มาอ้างอิงไว้ดังนี้

"...นี่เป็นงานประพันธ์ชิ้นแรกของข้าพเจ้า ซึ่งได้รับเกียรติให้ตีพิมพ์และออกจำหน่าย ข้าพเจ้ายังคงเป็นนักเขียนหน้าใหม่สำหรับท่าน และด้วยหวั่นเกรงว่าจะไม่ได้รับการยอมรับจากพวกท่าน จึงเป็นเหตุผลที่ข้าพเจ้าต้องอธิบายเรื่องราว (เกี่ยวกับหนังสือ) และแนะนำตัวข้าพเจ้า"

ถ้าหากผลงานเรื่อง คุณพี่มาแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ คือนวนิยายเรื่องแรกของ "ศรีบูรพา" ดังที่หลักฐานปรากฏ ข้อมูลที่มีผู้เคยอ้างว่าเรื่อง คมสวาทบาดจิต คือนวนิยายเรื่องแรกของ "ศรีบูรพา" คงจะต้องตรวจสอบกันใหม่

พ.ศ. ๒๔๖๘ อายุ ๒๐ กุหลาบเรียนจบชั้นมัธยม ๘ มีข้อมูลใน บรรทึกฯ ระบุไว้ว่า "เป็นหัวหน้าออกหนังสือรายทส ชื่อ สาส์นสหาย แต่ออกมาได้ ๗ เล่มก็ 'หมดกำลัง' " นี่เป็นหลักฐานว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เริ่มชีวิตการเป็นบรรณาธิการครั้งแรกในทันทีที่เลิกนุ่งขาสั้น หนังสือรายทส (รายสิบวัน) ที่ชื่อ สาส์นสหาย นี้ นายแตงโม จันทวิมภ์ เป็นผู้ออกทุนให้ ทั้งนี้เพื่อหารายได้ให้แก่ครูผู้สอนที่มาสอนเด็กในโรงเรียนรวมการสอน แต่ในที่สุดก็ต้องเลิกไปพร้อมกับสำนักทั้งสอง เพราะ "หมดกำลัง" อย่างที่ว่า ข้อมูลในหลักฐานต่อมา คือเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ กุหลาบได้เข้าทำงานที่กรมยุทธศึกษาฯ โดยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ โดยมีตำแหน่งเป็น "เจ้าพนักงานโรงวิทยาศาสตร์" ได้เงินเดือนเดือนละ ๓๐ บาท การที่กุหลาบไปเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการที่ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เพราะสืบเนื่องมาจากเคยส่งเรื่องไปลงพิมพ์ที่นี่ จนเป็นที่พอใจของ พ.ท. พระพิสิษฐพจนาการ (ชื่น อินทรปาลิต) (๕) ผู้เป็นบรรณาธิการในขณะนั้น ซึ่งต้องการ "ผู้ช่วย" ที่มีความรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไปทำงาน

พ.ศ. ๒๔๖๙ อายุ ๒๑ เริ่มเขียนงานประพันธ์อีกหลายชิ้น ได้ลงตีพิมพ์ที่ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ (รายเดือน), สมานมิตรบรรเทิง (รายปักษ์), มหาวิทยาลัย (รายเดือน), สวนอักษร (รายปักษ์), สาราเกษม (รายปักษ์), ปราโมทย์นคร (รายสัปดาห์), ดรุณเกษม (รายปักษ์), เฉลิมเชาว์ (รายเดือน), วิทยาจารย ์(รายเดือน) ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ได้ไปช่วยเพื่อนทำหนังสือพิมพ์ ธงไทย รายสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ซึ่งออกในงานรื่นเริงของโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์

หนังสือพิมพ์ ธงไทย มี เฉวียง เศวตะทัต เพื่อนร่วมรุ่นของกุหลาบเป็นหัวเรือใหญ่ เป็นหนังสือว่าด้วย "กลอนลำตัด" ออกอยู่ได้ ๒๐ เล่ม ก็เลิกไป ปัจจุบันถือเป็นหนังสือเก่า "หายาก" ประเภทหนึ่ง เพราะในรุ่นเก่าก่อนเมื่อประมาณ ๗๐-๘๐ ปี หนังสือ "กลอนลำตัด" ถือว่าจัดอยู่ในจำพวกขายได้ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป จึงหมดความนิยม

ข้อสังเกต : "ศรีบูรพา" อาจลืมข้อมูลในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ไปเรื่องหนึ่ง คือมีผลงานของเขาเป็นเรื่องสั้นชื่อ อะไรกัน ? พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ศัพท์ไทย ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๙

เรื่องสั้น อะไรกัน ? ที่ใช้นามปากกา "ศรีบูรพา" ชิ้นนี้ บรรณาธิการ โลกหนังสือ ในอดีตเคยเข้าใจว่าเป็น "เรื่องสั้นเรื่องแรก" ของ "ศรีบูรพา" เนื่องจากมีหลักฐานแน่นอนปรากฏอยู่ในหนังสือ ศัพท์ไทย ฉบับดังกล่าว แต่ข้อมูลจาก บรรทึกการแต่งหนังสือ ทำให้เห็นว่าผู้ประพันธ์อาจลืมนึกถึงเรื่องสั้นชิ้นนี้ไป ดังนั้น จึงขอบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพิ่มเติม

ชีวิตวัยรุ่นและวัยหนุ่มของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในปี ๒๔๗๐ และ ๒๔๗๑ ขอให้ท่านอ่านเก็บรายละเอียดเอาจากสำนวนภาษาและลีลาที่ปรากฏอยู่ใน บรรทึกการแต่งหนังสือ ที่ได้นำเอามาล้อมกรอบตีพิมพ์โดยครบถ้วนเป็นครั้งแรกในนิตยสาร สารคดี ฉบับนี้

การก่อเกิด "คณะสุภาพบุรุษ"

ช่วงรอยต่อระหว่างวัยรุ่นกับวัยหนุ่ม ขณะที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ อยู่ประมาณสองปีเศษนั้น ได้มีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ "Young กุหลาบ" ตัดสินใจเลิกคิดที่จะเอาดีทางรับราชการ และได้เบนชีวิตหันมาประกอบอาชีพนักเขียน นักหนังสือพิมพ์โดยอิสระเพียงอย่างเดียว ชนิด สายประดิษฐ์ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ในบันทึกดังกล่าว มีใจความตอนหนึ่งว่า

"จบการศึกษา ก็หัดเขียนหนังสือส่งไปให้ที่ต่าง ๆ อยู่ระยะหนึ่ง แล้วได้ทำงานหนังสือ เสนาศึกษาฯ ของโรงเรียนนายร้อย จนได้เงินเดือนเต็มขั้น ขึ้นอีกไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นนายทหาร ระหว่างทำงานอยู่ที่นี่ ก็ได้พบท่าทีวางเขื่องของนายทหารสมัยนั้นต่อผู้ทำงานที่เป็นพลเรือน

"ระหว่างเงินเดือนถูกกดเพราะไม่ได้เป็นนายทหาร คุณกุหลาบได้สมัครสอบเป็นผู้ช่วยล่าม ที่กรมแผนที่ สอบได้ที่หนึ่ง แต่ถูกเรียกไปต่อรองเงินเดือนจากอัตราที่ประกาศไว้ โดยเจ้าหน้าที่กรมแผนที่อยากจะให้คนอื่นที่สอบได้ที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกของผู้ดีมีบรรดาศักดิ์ หรือนายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้ตำแหน่งนี้ เมื่อถูกต่อรองเป็นครั้งที่ ๒ คุณกุหลาบก็แน่ใจว่าเป็นการกีดกันและเล่นพรรคพวก ตั้งแต่นั้นก็ไม่คิดจะทำราชการอีก..."

บันทึกความทรงจำของ "ฮิวเมอริสต์" ว่าด้วย สุภาพบุรุษ ที่เขียนตอนแรกลงในนิตยสาร ไทยกรุง ฉบับปฐมฤกษ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ และต่อมาได้เขียนขยายความทรงจำว่าด้วย สุภาพบุรุษ ให้ยาวมากขึ้น โดยลงติดต่อกันเป็นตอน ๆ ในนิตยสาร ลลนา ระยะใกล้เคียงกัน "ฮิวเมอริสต์" ได้ยกตัวอย่างด้วยอารมณ์ขันว่า เพราะกุหลาบมีปัญหากับทหารยามที่เฝ้าประตู เนื่องจากเป็นพลเรือน เวลาจะผ่านประตูเข้าไปทำงานในกรมทหาร เขาต้องลงจากรถจักรยานก่อน ส่วนพวกพลทหารนายทหารไม่ต้องลง ขี่จักรยานผ่านเข้าไปได้เลย กุหลาบเห็นว่าไม่ยุติธรรม ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจ "เขียนใบลาออกจากหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการ" และได้ตรงไปหาครูอบในทันที

"ครูครับ ผมลาออกแล้ว"

ครูอบได้ฟังเหตุผลก็ตอบในทันทีเช่นเดียวกัน

"เอา ออกก็ออกกัน สมเหตุสมผลแล้ว แล้วจะทำอะไรยังไงกันต่อไป"

"เราออกหนังสือพิมพ์ของเราเองซีครู"

"เอาก็เอา มีโครงการยังไงว่าไปซี"

"เรื่องอยากออกหนังสือพิมพ์ของเรากันเองนี้ ผมก็คิดอยู่นานแล้ว เพราะมัวแต่ทำงานเป็นลูกจ้างของเขาอยู่ยังงี้ เมื่อไหร่จะก้าวหน้าไปในทางที่เราคิดจะไปให้ใหญ่กว่านี้ ผมก็หาทางจะทำของเรากันเอง ให้ผลประโยชน์ตกอยู่แก่พวกเรา เราพอจะรวมกันเป็นกลุ่มก้อนได้ พอจะสามารถรับงานหนังสือพิมพ์รายอะไรได้สักฉบับหนึ่ง พอจะมีผู้ออกทุนให้ยืมมาก่อน เพื่อเริ่มงานได้ขนาดออกรายปักษ์ ผมคิดอยู่นานแล้วว่าจะใช้คำว่า สุภาพบุรุษ เป็นชื่อหมู่คณะที่เราจะรวมกัน"

หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ ได้ถือกำเนิดออกฉบับปฐมฤกษ์ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ จัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ บางขุนพรหม ของนายวรกิจบรรหาร ออกจำหน่ายทุกวันที่ ๑ และ ๑๕ ของเดือน มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการและเจ้าของ "ห้องสมุดไทยหนุ่ม" เป็นเอเยนต์ "ห้องเกษมศรี หน้าวัดชนะสงคราม" เป็นสำนักงาน ค่าบำรุง ๑ ปี ๖ บาท ครึ่งปี ๓.๕๐ บาท (เมล์อากาศ และต่างประเทศเพิ่ม ๑ บาท) ราคาจำหน่ายขายปลีกเล่มละ ๓๐ สตางค์ เงินค่าบำรุงส่งล่วงหน้า "สารบาน" ของหนังสือ สุภาพบุรุษ ฉบับปฐมฤกษ์ จำนวน ๑๖๒ หน้า ประกอบด้วยเรื่องดังต่อไปนี้

  • ปรารมณ์พจน์คำฉันท์ (คณะสุภาพบุรุษ)
  • เชิญรู้จักกับเรา (บรรณาธิการ)
  • ปราบพยส ("ศรีบูรพา")
  • ธาตุรัก ("แม่อนงค์")
  • ธรรมบางข้อ ("แหลมทอง")
  • เรื่องกินใจที่สุด ("แมวคราว")
  • พูดกันฉันท์เพื่อน (บรรณาธิการ)
  • ม้าจริง ๆ เป็นอย่างไร ("ฮิวเมอริสต์")
  • น้ำตาลใกล้มด ("แก้วกาญจนา")
  • ลีลาศาสต์ (สนิท เจริญรัฐ)
  • หมายเหตุเบ็ดเตล็ด ("อุททิศ")

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นหมุดหมายสำคัญในหนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ ฉบับปฐมฤกษ์ น่าจะอยู่ที่ข้อเขียนในลักษณะบทบรรณาธิการของตัวผู้เป็นทั้งเจ้าของและบรรณาธิการ ดังมีปรากฏอยู่ในเรื่อง เชิญรู้จักกับเรา และ พูดกันฉันท์เพื่อน

ข้อเขียนเรื่อง เชิญรู้จักกับเรา กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ประกาศหมุดหมายที่สำคัญไว้เป็นตัวอย่างให้แวดวงวรรณกรรมชั้นหลังได้ประจักษ์อย่างสำคัญ ก็คือทัศนะที่บอกว่า งานเขียนหนังสือเป็นงานที่มีเกียรติ และเป็นอาชีพได้

"เพื่อที่จะให้หนังสือ สุภาพบุรุษ อุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยเรื่องอันมีค่ายอดเยี่ยม จึงขอประกาศไว้ในที่นี้ว่า เราปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะรับซื้อเรื่องจากนักประพันธ์ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นเรื่องบันเทิงคดี และสารคดี..."

"ทำไมเราจึงซื้อเรื่อง

"สำหรับหนังสือพิมพ์ที่ออกเป็นรายปักษ์ หรือรายเดือน ดูเหมือนยังไม่เคยมีฉะบับใด ได้นำประเพณีการซื้อเรื่องเข้ามาใช้ การซึ่งเราจะกระทำขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ ก็เพราะเห็นว่าถึงเวลาอันสมควรที่จะกระทำแล้ว... การประพันธ์ของชาวเราทุกวันนี้ เป็น เล่น เสียตั้ง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ที่จัดว่าเป็น งาน เห็นจะได้สัก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ดอกกระมัง บัดนี้จึงควรเป็นเวลาที่เราจะช่วยกันเปลี่ยนโฉมหน้าการประพันธ์ ให้หันจาก เล่น มาเป็น งาน..."

สำหรับข้อเขียนของบรรณาธิการอีกชิ้นหนึ่ง พูดกันฉันท์เพื่อน กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า "สุภาพบุรุษ" อย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกเช่นเดียวกัน และนี่คือเหตุหมายสำคัญที่อาจกล่าวได้ว่าจะติดตัวอยู่ในจิตวิญญาณของสามัญชนที่ชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ตลอดไปจนชั่วชีวิต

เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ ได้เขียน พูดกันฉันท์เพื่อน ว่าด้วยความหมายของคำว่า สุภาพบุรุษ อย่างชนิดที่เป็นเหมือน "คำมั่นสัญญา" บางอย่างของตัวเขาเอง ดังต่อไปนี้

"...เรามีความเข้าใจหลายอย่างในคำ 'สุภาพบุรุษ' แต่ความเข้าใจนั้น ๆ หาถูกแท้ทั้งหมดไม่ บางคนยกมือชี้ที่บุรุษแต่งกายโอ่โถง ภาคภูมิ แล้วเปล่งวาจาว่า 'นั่นแลคือสุภาพบุรุษ' ความจริงเครื่องแต่งกาย ไม่ได้ช่วยให้คนเป็นสุภาพบุรุษกี่มากน้อย เครื่องแต่งกายเป็นเพียง 'เครื่องหมาย' ของสุภาพบุรุษเท่านั้น และ 'เครื่องหมาย' เป็นของที่ทำเทียมหรือปลอมขึ้นได้ง่าย เพราะฉะนั้นผู้ที่ติด 'เครื่องหมาย' ของสุภาพบุรุษ จึงไม่จำเป็นต้องเป็นสุภาพบุรุษทุกคนไป

หนังสือเล่มหนึ่งแนะนำให้เรารู้จักสุภาพบุรุษของอังกฤษ โดยนัยดังต่อไปนี้

  1. ชอบการกีฬา.
  2. สุภาพเรียบร้อย.
  3. ถือตัว (คือไม่ยอมประพฤติชั่วง่าย).
  4. ไม่อึกทึกครึกโครม.
  5. ชอบอ่านหนังสือพิมพ์.
  6. มีนิสสัยซื่อสัตย์.

กฎกติกาของสุภาพบุรุษอังกฤษ บางข้อไม่จำเป็นสำหรับสุภาพบุรุษไทยนัก แต่ถ้าเรามีกฎที่ดี และปฏิบัติตามได้มาก ๆ ก็ย่อมแน่ละ ที่ความเป็นสุภาพบุรุษของเราจะต้องเด่นขึ้น. ถึงอย่างไรก็ดี, เครื่องแต่งกาย ก็ไม่ได้อยู่ในกฎเกณฑ์ของสุภาพบุรุษอังกฤษในข้อใดข้อหนึ่ง บางทีสุภาพบุรุษอังกฤษเอง ก็คงจะถือว่า เครื่องแต่งกายเป็นเพียง "เครื่องหมาย" ของสุภาพบุรุษ เหมือนดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ข้างต้น.

ข้าพเจ้าค่อนข้างแน่ใจว่า ประเพณีได้บังคับให้สุภาพบุรุษของเรา มีลักษณะต่างกับสุภาพบุรุษของชาติอื่นในบางประการ แต่จะต่างกันอย่างใด ไม่ใช่ความมุ่งหมายที่ข้าพเจ้าตั้งใจเขียนในเวลานี้.

ชาวอังกฤษยังถือกฎที่พิสดารอยู่อีกอย่างหนึ่ง ที่ว่า "Three generations make a gentleman" เนื้อความดูจะกะเดียด ๆ มาข้าง 'ผู้ดีแปดสาแหรก' ของเรา กฎอันนี้ชาวอังกฤษในยุคปัจจุบัน ดูเหมือนไม่ค่อยได้เอาใจใส่ พาลจะเห็นว่าเป็นกฎที่น็อนเซ็นส์เอาทีเดียว ถ้าคนเราจะเป็นสุภาพบุรุษได้ ต่อเมื่อบรรพบุรุษต้องเป็นสุภาพบุรุษมาแล้วถึง ๓ ชั่วคน ก็ดูออกจะเป็นบาปอันหนัก สำหรับสุภาพบุรุษ ที่ไม่มีบรรพบุรุษเป็นสุภาพบุรุษอยู่ครัน ๆ. จากกฎอันนี้, สุภาพบุรุษดูเหมือนจะมีรูปร่างหน้าใกล้เข้าไปทางขุนนางเป็นอันมาก เพราะต้องอาศัยบารมีของผู้อื่นช่วย และก็ในหมู่พวกขุนนางอาจมีคนชั่วรวมอยู่ด้วยได้ ฉะนั้นในหมู่สุภาพบุรุษ ก็เห็นจะต้องมีคนชั่วรวมอยู่ได้ด้วยอีกกะมัง ? เป็นของน่าขันมาก, ถ้าสมัยนี้ยังมีคนนิยมนับถือในกฎที่ว่า "Three generations make a gentleman"

ถ้าจะว่า "สุภาพบุรุษ" มีรูปร่างหน้าตาใกล้เข้าไปกับ "ผู้ดี" ดูจะไม่ค่อยมีข้อคัดค้าน แต่ต้องให้เป็น "ผู้ดี" ซึ่งคนในสมัยนี้เข้าใจกัน ถ้าเป็น "ผู้ดีเดิรตรอก" อย่างสมัย ๑๐ ปีก่อนลงไป สุภาพบุรุษของเราก็คงไม่มีโอกาสใกล้เข้าไปได้อีกตามเคย. แต่อย่างไรก็ตาม, คำว่า "สุภาพบุรุษ" ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีความหมายแรงกว่า "ผู้ดี" เพราะผู้ดี, ตามความเข้าใจ

ของข้าพเจ้า, เป็นแต่ทำตัวสุภาพอ่อนโยนอยู่ในกรอบของจรรยาเท่านั้น ส่วนสุภาพบุรุษ นอกจากจะต้องทำหน้าที่อย่างผู้ดี ยังมีหน้าที่จุกจิกอื่น ๆ ที่จะต้องทำอยู่มาก.

หัวใจของ " 'ความเป็นสุภาพบุรุษ' อยู่ที่การเสียสละ เพราะการเสียสละเป็นบ่อเกิดของคุณความดีร้อยแปดอย่าง หากผู้ใดขาดภูมิธรรมข้อนี้ ผู้นั้นยังไม่เป็นสุภาพบุรุษโดยครบครัน. ถ้าจะอธิบายความหมายของสุภาพบุรุษให้กะชับเข้า ก็จำต้องยืมถ้อยคำที่ว่า 'ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น', ซึ่งข้าพเจ้าได้แต่งไว้ในหนังสือเรื่องหนึ่งมาใช้..." (๖)

ประโยคที่ว่า "ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับผู้อื่น" ที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยกข้อความมาไว้ในเครื่องหมายคำพูดนั้น แท้จริงก็หาได้เอามาจากผู้อื่นไม่ แต่เป็นข้อความที่มาจากนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง เล่นกับไฟ ที่ "ศรีบูรพา" ได้เขียนลงตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ถือเป็นประโยคที่ยังสด ๆ ร้อน ๆ สำหรับคนหนุ่มอายุ ๒๓ ที่ได้ประกาศ "อุดมคติ" เอาไว้อย่างเป็นรูปธรรม โดยแทรกอยู่ในนิยายรักโรแมนติกเรื่อง เล่นกับไฟ ของเขาเอง และได้นำมาประกาศ คล้ายเป็นเข็มมุ่งของหมู่คณะว่า จะรักษาความเป็น สุภาพบุรุษ เอาไว้ให้ถึงที่สุด เพราะ สุภาพบุรุษ นั้นหมายถึง "ผู้เกิดมาสำหรับคนอื่น" นี่คือแก่นหลักของหมู่คณะที่เรียกตัวเองว่า สุภาพบุรุษ ที่ได้แสดงปณิธานว่า ในภายภาคหน้า แม้หมู่คณะนี้จะกระจัดกระจายกันไป หรือยังรวมกลุ่มกันทำงานในฐานะนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ แต่ความมุ่งมั่นของบรรณาธิการ-กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ว่าจะ "เกิดมาสำหรับคนอื่น" นั้น คงยังยืนยงอยู่ต่อมา จนกลายเป็นเบ้าหลอมสำคัญของตัวเขาเอง จวบจนสิ้นชีวิต (๗)

คณะสุภาพบุรุษ ที่ก่อเกิดมาพร้อมกับหนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ นั้น ประกอบด้วยคนหนุ่มในวัยไล่เลี่ยกัน ที่เห็นว่าอาวุโสมากกว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็มีอยู่บ้าง เช่น ขุนจงจัดนิสัย ชิต บุรทัต สถิตย์ เสมานิล หอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา และ อบ ไชยวสุ แต่ทว่าทั้งหมดก็ล้วนเป็น "เกลอ" กัน มีชีวิตผูกพันกันด้วยผลงานทางการประพันธ์

ความทรงจำของ "ร. วุธาฑิตย์" (นามปากกาของ จรัล วุธาฑิตย์) ที่เขียนเล่าถึง คณะสุภาพบุรุษ โดยพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ชมรมนักเขียน ของ ประกาศ วัชราภรณ์ (บำรุงสาส์น : ๒๕๐๙) ข้อเขียนเรื่อง ชมรมสุภาพบุรุษ ของ วิลาศ มณีวัต ที่อยู่ในหนังสือ โฉมหน้านักประพันธ์ (คลังวิทยา : ๒๕๐๒) ตลอดจนข้อเขียนอย่างเช่น เมื่อพรหมลิขิตให้ข้าพเจ้าเป็นนักประพันธ์ ของ ยศ วัชรเสถียร ที่พิมพ์ครั้งแรกอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้น มนุษยเดินดิน ของเขาเอง (โอเดียนสโตร์ : ๒๕๐๓) หนังสือเหล่านี้ถือเป็นงานเขียนในยุคมืดของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และยุคเผด็จการ "ถนอม - ประภาส" ที่สามารถต่อยอดให้นักอ่านในชั้นหลัง รุ่น พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๑๐ สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวเกี่ยวกับคำว่า คณะสุภาพบุรุษ และ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเห็นว่าหนังสือบางเล่มอย่างเช่น ๑ ศตวรรษหนังสือพิมพ์ไทย ของ เสลา เลขะรุจิ (บำรุงสาส์น : ๒๕๑๐) กลับไม่ให้ความสำคัญแก่ คณะสุภาพบุรุษ และ กุหลาบ สายประดิษฐ์ แม้แต่น้อย

ข้อเขียนที่เป็นความทรงจำของ "ร. วุธาฑิตย์"

นิตยสารสารคดี Feature Magazine , นิตยสารสำหรับครอบครัว www.sarakadee.com , ISSN 0857-1538 , ฉบับที่ ๑๙๖ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๔

Comment #1
สุชาติ ไม้แดง
Posted @September,28 2007 13.21 ip : 203...243

ผมดีใจที่ได้ทราบประวัติอย่างละเอียดของท่าน และเป็นเกียรติอย่างมากที่ผมได้เคยร่วมทำงานกับบุตรชายของท่าน คุณสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ ผมจะจำตลอดไปครับ

แสดงความคิดเห็น

« 8981
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ