บทความ

ปัจเจกชนปฐมบทแห่งปัญหาสังคม

by แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า @December,06 2006 09.50 ( IP : 58...116 ) | Tags : บทความ

บทวิจารณ์หนังสือรวมเรื่องสั้น ชื่อ ‘ปัจเจกชนครั้งสุดท้ายของเขาและเธอ’ ของ ‘สิตางศุภา’ วิจารณ์โดย แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า ……………………………………………………………………… ปัจเจกชนปฐมบทแห่งปัญหาสังคม โดย  แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า

  ปัจจุบันปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการข่มขืน ปัญหาการทารุณกรรมเด็ก ปัญหาอาชญากรรมปล้น-ฆ่า ปัญหาวัยรุ่นกับการเสพยาเสพติด และการขายบริการ ฯลฯ  เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาที่รอการแก้ไขทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงคนทุกคนในสังคมที่ต้องช่วยกันพยายามหาทางออก โดยมีส่วนร่วมในการแก้ไขไม่มากก็น้อย และบ่อยครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้น เรามักจะตั้งคำถามเอากับตนเองอยู่เสมอว่า ปัญหาต่างๆ เหล่านี้มาจากไหน? เกิดขึ้นได้อย่างไร? และใครเป็นผู้ก่อ? ซึ่งคำถามต่างๆ ที่กล่าวมานี้เราอาจจะค้นพบคำตอบได้ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ ‘ปัจเจกชนครั้งสุดท้ายของเขาและเธอ’ เขียนโดยนักเขียนหญิงนาม “สิตางศุภา”

  ‘ปัจเจกชนครั้งสุดท้ายของเขาและเธอ’ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นทั้งหมด ๙ เรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนนำเสนอปัญหาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาวัยรุ่น ซึ่งปัญหาทั้งหมดที่ผู้เขียนนำเสนอนั้นล้วนมาจาก “ปัจเจกชนธรรมดาๆ คนหนึ่ง” นั่นเอง

๑.เรื่อง ‘ปัจเจกชน’

  ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาการกระทำใดๆ ของมนุษย์ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ล้วนแต่เป็นไปเพื่อตนเองทั้งนั้น แม้ผู้ที่ได้ชื่อว่าเสียสละที่สุด เมื่อค้นลึกลงไปถึงแก่นแท้แล้ว ก็ยังคงหนีไม่พ้นการกระทำที่เป็นไปเพื่อตนเองอยู่ดี เช่นเดียวกับศิลปินที่รังสรรค์งานศิลปะ แม้จะหยิบข้ออ้างใดๆ มากล่าวอ้าง ก็ยังคงหนีไม่พ้นเป็นการกระทำเพื่อตนเองเช่นกัน และคำว่า ‘เพื่อตนเอง’ นี่เอง แก่แท้ที่เป็นหัวใจหลักและสำคัญที่สุดก็คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘ปัจจัยสี่’ และต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ก็ไม่ใช่วิสัยที่ผิดปกติธรรมดาของมนุษย์แต่อย่างใด เพราะมนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะกระทำสิ่งใดๆ ก็ได้ที่ ‘เพื่อตนเอง’ โดยเท่าเทียมกัน ทว่าตัวแปรอันสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในการแสวงหานั้นก็คือ ‘โอกาส’ และคำว่า ‘โอกาส’ นี่เอง ที่ทำให้คนเราไม่เท่าเทียมกัน (เพราะโอกาสไม่ได้มีเหมือนกันทุกคน) จึงก่อให้เกิดการเลื่อมล่ำกันขึ้นกับผู้คนในสังคม และแน่นอนพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งยังมีความต้องการปัจจัยสี่ (เพื่อตนเอง) อยู่มาก แต่โอกาสกลับมีไม่เท่าเทียมกัน มนุษย์จึงต่างดิ้นรนแสวงหาโอกาสให้กับตนเอง และขั้นตอนการแสวงหานี่เอง จึงเป็นจุดกำเนิดของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

  ทว่าการแสวงหาโอกาสของมนุษย์นั้น ก็มีวิถีทางที่แตกต่างกันออกไป ทั้งดีและไม่ดี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัย สภาพแวดล้อม ความรู้สึกนึกคิดของแต่ละบุคคล เช่นเรื่องสั้นเรื่อง ‘ปัจเจกชน’ ผู้เขียนได้สะท้อนความต้องการของมนุษย์ ผ่านตัวละครของเด็กทั้งสอง และในขณะเดียวกัน ผู้เขียนยังได้อาศัยเด็กทั้งสองเป็นกระจกสะท้อนกลับให้เห็นพฤติกรรมและความต้องการของผู้ใหญ่อีกด้วย

  เรื่อง ‘ปัจเจกชน’ เริ่มต้นที่พีรมานหญิงสาวออกจากงานแล้วไปอยู่กับครอบครัวของพี่ชายที่ต่างจังหวัด ซึ่งครอบครัวของพี่ชายประกอบด้วย พี่ชาย พี่สะใภ้ และลูกชายอีกสองคน ในขณะที่อยู่นั้นพีรมานก็อยู่ไปวันๆ โดย “...รู้สึกเคว้งคว้างราวผึ้งงานตัวน้อยร่วงหล่นจากรังเพราะไฟแห่งความเปลี่ยนแปลง” (หน้า ๑๓) และในขณะที่เธอยังคงรู้สึกเช่นนั้น สิ่งเดียวที่เธอทำได้ก็คือ ช่วยพี่ชายและพี่สะใภ้เลี้ยงลูกชายทั้งสอง และจากการที่เธอเลี้ยงเด็กทั้งสองทำให้เธอได้เห็นพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกมา สุดท้ายเธอก็รับรู้ถึงบางสิ่งบางอย่างที่ “...ผูกจิตครุ่นคิดของตนไว้กับความกังขามาเนิ่นนาน...” (หน้า ๓๓) จนเธอกลับไปเป็นคนที่ “...ไม่มีคนประเภทใดที่ต้องขยาดหวาดกลัวอีกต่อไป ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมหรือความเลวร้ายใดทำให้ความเป็นตัวของตัวเองที่แสนอิสระต้องสั่นคลอน ไขว้เขวและกังขาได้ เพราะประจักษ์เห็นบางสิ่งบางอย่างซึ่งเปิดทางสู่ความกล้าแข็งภายในใจ...” (หน้า ๓๓)

  เรื่องนี้ผู้เขียนวิเคราะห์ตัวละครของเด็กทั้งสองออกมาในแนวจิตวิทยา (Psychological) โดยผ่านมุมมองของพีรมานตัวเอกของเรื่อง อีกทั้งผู้เขียนเองยังได้อาศัยการวิเคราะห์นั้นสะท้อนกลับไปยังตัวละครอีกตัวหนึ่งด้วย ซึ่งตัวละครตัวนี้คือเจ้าของค่ายเทปที่พีรมานเคยทำงานอยู่ด้วย บทบาทของตัวละครตัวนี้ (เจ้าของค่ายเทป) ผู้เขียนเขียนแทรกเข้าสู่ความคิดของพีรมานเป็นระยะๆ สลับกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งของตัวละครที่เป็นเด็กทั้งสองกระทำในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตอนที่น้องก้อง (หลานชายคนเล็กของพีรมาน) หยิบของเล่นออกมาเล่นโชว์เมื่อตอนที่พี- รมานนั่งคุยกับพี่สะใภ้ ผู้เขียนบรรยายพฤติกรรมพร้อมกับวิเคราะห์ว่า

  “...ดวงตากลมๆ ของน้อยจับจ้องอยู่ที่ปฏิกิริยาของผู้มาเยือนอยู่ตลอดเวลา เขาคงคิดว่าการที่ของเล่นชิ้นหนึ่งสามารถหมุนใบพัดได้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และน่าทึ่งเสียเต็มประดา และการเป็นเจ้าของมันก็เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจโดยเฉพาะถ้ามีใครแสดงอาการอยากได้ เขาจะรู้สึกว่าสิ่งนั้นมีค่าอย่างยิ่ง และการได้ครอบครองมันก็ทำให้ตนกลายเป็นคนสำคัญ” (หน้า ๑๕)

  ซึ่งผู้เขียนก็ได้ยืมพฤติกรรมของเด็กมาสะท้อนพฤติกรรมของเจ้าของค่ายเทปในเรื่อง

  “...คุณคิดว่ารถคันใหม่ของผมเข้าท่าไหม ยี่ห้อ...ประกอบทั้งคันเชียวนะ วันก่อนผมขับไปแถว...สาวๆ กรี๊ดกันยกใหญ่ พวกเด็กหนุ่มๆ ก็มาลูบๆ คลำๆ อย่างอยากได้อยากมี ผมรู้สึกยืดเป็นบ้าเลยว่ะ...” (หน้า ๑๖)

  ตลอดเรื่อง ‘ปัจเจกชน’ นั้นผู้เขียนได้ใช้เทคนิคการเขียนแบบตัดสลับเช่นนี้ไปตลอดจนจบเรื่อง และเมื่ออ่านจบทำให้ครุ่นคิดถึง ‘นัยยะ’ บางอย่างที่ผู้เขียนต้องการจะบอกกล่าวกับผู้อ่านผ่านพฤติกรรมของตัวละคร ซึ่ง ‘นัยยะ’ ที่แฝงไว้ในเนื้อเรื่องจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก “พฤติกรรมต่างๆ ในตัวของผู้ใหญ่ไม่ว่าจะด้านดีหรือร้ายย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการถูกเลี้ยงดูในวัยเด็ก” นั่นเอง

  ไม่เพียงแต่นัยยะดังกล่าวที่ผู้เขียนต้องการจะบอกกล่าวให้ผู้อ่านได้รับรู้ในข้างต้นเท่านั้น ผู้เขียนยังได้อาศัยตัวละครเอก (พีรมาน) โต้ตอบกับคำถามที่มักจะได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่า “อิสระชน คนทำงานศิลปะ หรือศิลปินนั้น ควรหรือไม่ที่จะคำนึกถึงผลประโยชน์ของตนเอง” ว่า

  ”...ผมไม่ได้มีปัญหา พวกมันต่างหากที่อวดเบ่ง สร้างภาพกับสาธารณชนให้ผิดเพี้ยนจากความจริง พยายามบอกใครต่อใครว่าเป็นปัจเจกชน นิยมศิลปะ รักอิสระทั้งที่เวลาผลิตงานก็คำนึงถึงยอดขายก่อนอย่างอื่น เวลาหาเมียก็ต้องดูฐานะและนามสกุลก่อนหน้าตาและคุณสมบัติอื่น คุณคิดว่ามันมีคุณสมบัติของปัจเจกชนตรงไหน – ตรงที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองไงคะ เพราะเมื่อแปลตามศัพท์แล้ว อินดิวิดวลลิสม์หมายถึงลัทธิเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งลัทธิทุนนิยมแพร่หลายเรื่อยมานั้น ปัจเจกชนก็คือนายทุนย่อยๆ ที่เป็นอิสระจากรัฐหรือองค์กรของนายทุนใหญ่ อันนี้พีอ่านจากหนังสือจิตวิทยาสังคมนะคะ...” (หน้า ๓๐ เน้นโดยผู้เขียน)

  และไม่เพียงแค่สองประเด็นที่กล่าวมาแล้วเท่านั้นที่ผู้เขียนต้องการสื่อออกมา ผู้เขียนยังได้อาศัยเหตุการณ์ของตัวละครกล่าวเตือนไปยังศิลปินในทำนองว่า “อย่าได้ลุ่มหลงอยู่กับถ้อยคำสรรเสริญต่างๆ เพราะมันอาจจะเป็นการชื่นชมที่ออกมาโดยปราศจากเหตุผลและการเข้าใจอย่างแท้จริง” ดังที่สะท้อนออกมาโดยอาศัยพฤติกรรมของเด็กละเลงสีในตอนที่

  …ภาพของน้องก้องทำให้ผู้เป็นแม่หัวเราะ ตัวของเขาเปรอะเปื้อนสีอยู่บนพื้นเขรอะขระไปด้วยสีโปสเตอร์ซึ่งหกเรี่ยราดเลอะเทอะ กระดาษขาวเปื้อนสีหลายแผ่นกราจัดกระจายเต็มบ้าน

  “งานศิลปะอันยิ่งใหญ่ของศิลปินน้อย”  พี่สะใภ้ประกาศอย่างภาคภูมิใจ    เด็กชายตาลุก วาวอย่างภาคภูมิ “น้องพีดูการใช้สีและการวางคอมโพสิคะ คนโตๆ ยังทำไม่ได้เลย”

  หญิงสาวมองภาพต่างๆ เหล่านั้น และสิ่งที่พี่สะใภ้พูดนั้นมีส่วนจริง เมื่อคิดว่าเป็นผลงานของเด็กวัยสามขวบเศษก็ยิ่งรู้สึกทึ่ง แม้ว่ารอยสีบนกระดาษนั้นจะเห็นชัดว่าเกิดจากฝ่ามือและฝ่าเท้าน้อยๆ (หน้า ๒๑)

  กับนักแต่งเพลง

  ...ผมจะให้ชื่องานเพลงนิวเอจชุดนี้ว่าอะไรดี Spirit of Freedom หรือ Spirit of Individual    คุณฟังดูแล้วรู้สึกเบาล่องลอยมั้ย คุณรู้มั้ยว่าผมใช้เวลาทำงานนี้นานแค่ไหน แค่เดือนเดียวเอง จับซาวนด์นั่นมาปนกับซาวนด์นี่ นักวิจารณ์ต้องชมว่าผมเป็นอัจฉริยะแน่ๆ... (หน้า ๒๑)

  ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ดีๆ แล้วผู้เขียนยังส่งสารผ่านตัวละครไปยังนักวิจารณ์พร้อมกันด้วยในทำนองว่า “บางครั้งผลงานของศิลปินที่ยิ่งใหญ่ต่างๆ ที่วิจารณ์และชื่นชมนักหนาอาจไม่ใช่อะไรนอกจากความบังเอิญที่จับเอาองค์ประกอบต่างๆ มาร่วมกันอย่างไม่ได้ตั้งใจ หรือมั่วๆ จนเกิดความพอดีประกอบกับถ้อยคำชื่นชมที่เกินจริง” นั่นเอง

  เรื่อง ‘ปัจเจกชน’ เป็นเรื่องสั้นที่โดดเด่นในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของตัวละครโดยผ่านหลักจิตวิเคราะห์ได้อย่างน่าอ่าน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมว่า “แท้จริงแล้วปัญหาสังคมนั้นก็คือ ปัญหาของปัจเจกชนแต่ละคนที่หลอมรวมกันจนกลายเป็นปัญหาสังคมใหญ่”

  และที่โดดเด่นที่ไม่อาจจะละเลยได้ก็คือ การที่ผู้เขียนอาศัยการบรรยายความคิดของตัวละครสร้าง ‘นัยประหวัด’ (Connotation) เช่นตอนที่เด็กทั้งสองแย่งรถจักยานกัน ผู้เขียนก็ให้พี-รมานคิดว่า

  “กะอีแค่แร่ธาตุใต้ดินที่แต่งหลอมให้เป็นรูปร่างจนมีคนให้คุณค่า ทั้งที่พ้นจากนาทีนี้ มันก็เอียงล้มตากแดดตากฝนอย่างไร้คุณค่า ความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตยิ่งใหญ่กว่า ฉะนั้นเศษเหล็กเหล่านี้ไม่ควรกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้พี่น้องต้องขัดใจกัน” (หน้า ๒๙)

  และเมื่อนำไปโยงกับเหตุการณ์ของเจ้าของค่ายเทป ที่กำลังมีปัญหากับศิลปินในสังกัดซึ่งออกไปเปิดบริษัทเทปแข่ง ก็ทำให้ทราบถึงนัยประหวัดที่ผู้เขียนต้องการสื่อนั้นก็คือ ‘เงิน-ทอง’ นั่นเอง

๒.เรื่อง ‘ครั้งสุดท้ายของเขาและเธอ’

  มีประโยคหนึ่งที่มักได้ยินอยู่เสมอว่า “เวลาเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน” ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นประโยคที่ชี้ให้เห็นถึงความจริงมากที่สุด อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘สัจธรรม’ เลยก็ว่าได้ และประโยคนี้จึงเป็นข้อสรุปทั้งหมดของเรื่อง ‘ครั้งสุดท้ายของเขาและเธอ’ ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนได้สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนเองต่อแง่มุมของคำว่า อุดมการณ์ อุดมคติ และความรัก

  อุดมการณ์กับความรัก

  เรื่องนี้ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของปัจเจกชนในแง่อารมณ์ความรัก-ใคร่ที่อยู่เหนืออุดมการณ์ โดยครั้งแรกนั้นผู้เขียนให้ตัวละครเผชิญอยู่ในเหตุการณ์ของเดือนตุลาฯ ที่เต็มไปด้วย “...อารมณ์รุนแรง ครั้งมีการกวาดล้างจับและฆ่า เลือดและน้ำตาของคลื่นหนุ่มสาวทำให้เธอเสียขวัญ ร้องไห้ฟูมฟายอย่างบ้าคลั่ง” (หน้า ๓๗) ก่อนจะไปจบที่ “...เขาตะกองร่างอวบอัดเปล่งปลั่งสั่นเทาไว้ในอ้อมแขน เหมือนคู่พระนางในหนังรักกลางเปลวไฟสงคราม จากนั้นก็ชวนเธอหลุดจากบรรยากาศและข่าวสารอันข่มขื่นมายังทะเล ให้อายเกลือจากน้ำเค็มพร้อมลมเย็นกลางฟ้ากว้างช่วยปัดเป่า เรียกขวัญด้วยกันกับความเป็นชายของเขา” (หน้า ๓๘) ซึ่งตรงนี้ที่ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงความต้องการดังกล่าว (อารมณ์ใคร่ที่อยู่เหนืออุดมการณ์) และยิ่งแน่ใจขึ้นไปอีกเมื่อผู้เขียนย้ำความคิดเดิมที่

  “หญิงสาวตอบตนเองไม่ได้ ทำไมถอนใจจากเขายากนัก ยากกว่าทำใจรับทรราชย์ขึ้นครองประเทศเสียอีก ยากอย่างที่ไม่คิดว่าจะมีอะไรยากขนาดนี้...” (หน้า ๓๘)

  และเมื่อความต้องการในความรัก-ใคร่สุกงอมมากพอ ผู้เขียนจึงได้ให้ตัวละครสะท้อนภาวะปรกติวิสัยของมนุษย์ออกมาตามความเป็นจริงคือ

  …เธอตัดสินใจว่าจะยอมตาย

  หันหลังให้กับอนาคต ผองเพื่อน ประชาชน ประเทศชาติ ปิดหูปิดตาจากข่าวสารข้อมูลการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ ดำดิ่งจ่อมจมอยู่กับสิ่งทีเธอกับเขาเรียกมันว่า...ความรัก
        (หน้า ๓๙)

  ทว่าเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ผู้เขียนก็ให้ตัวละครกลับไปบรรยายข้อสรุปกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า    “ถ้าวันนั้นละก็ ไม่ใช่ความสุข เพราะนั่นไม่ใช่ความรักที่แท้จริงในความหมายของทุกเพศทุกวัย” (หน้า ๓๙)

  และที่ผู้เขียนเขียนออกมาทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่อะไรเลย นอกจากเป็นบทสรุปของประโยคที่ว่า ‘ความรักทำให้คนตาบอด’ นั้นก็เพราะตัวละครก็ได้สารภาพออกมาตรงๆ ว่า

  “มันเป็นช่วงที่ยืนอยู่ระหว่าสองขั้วต่าง สุขและทุกข์เอียงไปทางโน้นทีทางนี้ที” (หน้า ๓๙)

  และก็ด้วยประโยคนี้ เมื่อมองจากเค้าโครงของเรื่องที่มีส่วนเกี่ยวพันกับอุดมการณ์ และเหตุการณ์ทางการเมืองแล้ว จึงทำให้คิดถึงนัยประหวัดไปถึงความสับสนของหนุ่มสาวในยุคนั้น (บางคน) ที่ยืนอยู่ท่ามกลางของลัทธิทางการเมือง ๒ ลัทธินั้นก็คือ ‘ลัทธิสังคมนิยม’ กับ ‘ลัทธิทุนนิยม’ โดยผู้เขียนได้ให้ตัวละครอธิบายความคิดออกมาว่า

  “...และผมก็เห็นแก่ตัวเหลือเกินเพราะจะทิ้งฝ่ายไหนก็กลัวตัวเองเจ็บ โดยเฉพาะกลัวคำครหาดูเอาเถอะ แค่ครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องความรัก จดจ่อกับเรื่องของเราก็ถูกมองว่าเอียงขวา หลงใหล หมกมุ่นกับความคิด ความรู้สึกแบบเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมศักดินา ซึ่งพวกเขาเอามาเผา ตอนนั้นผมเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนฟัง พวกมันด่าว่าผมทรยศเพื่อนร่วมรุ่น...” (หน้า ๓๙-๔๐)

  ซึ่งผู้เขียนก็ปลอบโยนความคิดเหล่านั้นว่า

  “...แต่นั่นก็ทำให้ผมเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ได้อีกเยอะ” (หน้า ๔๐)

  และ

  “...ถ้าเพื่อนฝูง สังคมนิยมยกย่องบางคนที่หนีการจับกุมเข้าป่า เขาจะเป็นกระบอกเสียงแทนรัฐบาล ยืนยันว่าหมอนั่นมิใช่วีรบุรุษตัวจริง โน้มน้าวคนฟังให้เชื่อว่าไม่มีใครทำเพื่อใครอย่างบริสุทธิ์ใจหรอก คุณรู้หรือไม่ว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อทำเลวต่างหากเล่า” (หน้า ๔๐)
  ความรักกับโลกแห่งความเป็นจริง

  ในเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่ผู้เขียนได้นำเสนอความคิดเกี่ยวกับอุดมการณ์กับความรักผ่านตัวละครดังที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น ผู้เขียนยังได้สอดแทรกและเผยให้เห็น ความรักท่ามกลางโลกแห่งความเป็นจริงอีกด้วยว่า แท้จริงแล้วมันไม่ได้สวยงาม หวานหอมเสมอไป ดั่งเช่นตอนที่ชายหนุ่มถูกจับแต่งงานกับผู้หญิงคนอื่นทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน ก่อนที่จะมาเจอ ’เธอ’ (หญิงสาวคนแรกของเขา) และสุดท้ายเขาก็ทำลายกำแพงที่ขวางกั้นอยู่โดย “เขาตามเธอไป ตัดสินใจตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะจบกับภรรยาตามกฎหมาย...” (หน้า ๓๙)

  ทว่าขึ้นชื่อว่ามนุษย์ก็ย่อมจะมีความอ่อนไหว และอ่อนแอกับความต้องการของตนเองอยู่เสมอ แล้วมันจึงเป็นเหตุให้ชายหนุ่ม กลับไปมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงที่ถูกจับแต่งด้วยจนท้อง และนี่จึงเป็นสาเหตุให้หญิงสาวต้องดำดิ่งอยู่กับความทุกข์ทรมานนานถึงเจ็ดปี แต่กระนั้นหญิงสาวก็ยังเลือกที่จะอยู่กับเขาโดยให้เหตุผลว่า

  ถ้ารักลูก รักแม่ของตนก็จงอย่าทำร้ายพวกเขาอีก ลูกชายคนโตเริ่มติดพ่อ ลูกสาวคนเล็กกำลังเรียกพ่อได้ เด็กวัยนี้อาจไม่รับรู้อะไรนักหากขาดพ่อ แต่ทำไมคนที่ทำถูก ต้องแบกรับภาระทั้งหมดไว้ตามละพังด้วยเล่า…” (หน้า ๔๔)

  ซึ่งโดยลึกๆ ในใจเธอก็ยังมีความรู้สึกผิดที่ “...มีต่อตัวเองซึ่งกระทำให้ผู้หญิงและเด็กคู่หนึ่งต้องรับทุกข์...” (หน้า ๔๕) และเธอก็เก็บความรู้สึกเล่านั้นไว้เพื่อรอเวลาว่า “สักวันหนึ่งเมื่อลูกปีกกล้าขาแข็ง เติบโตจนมีชีวิตของพวกเขาเอง เธอจะไถ่บาป และจะไม่ยอมทนอยู่กับผู้ชายคนนี้” (หน้า ๔๕)

  สุดท้ายเมื่อชีวิตได้ดำเนินมาถึงจุดหมายปลายทาง เรื่องราวในอดีตที่เจ็บช้ำก็ได้รับการปลดปล่อยไปอย่างเข้าใจโดยสรุปว่า

  “เรื่องที่มันแล้วก็ให้มันแล้วไปเถอะ” เธอพูด “คิดเสียว่ามันไม่เกิดขึ้น เพราะเรากำลังอยู่ที่เดิม จุดเดิมที่เรารู้สึกรักใคร่เสน่หากัน และนับจากวันนี้ เวลาจะหยุดอยู่ตรงนี้ ในแบบที่เราปรารถนา เพราะมันจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะกลับมาสู่จุดเริ่มต้น” (หน้า ๕๑)

  ภาพสุดท้ายของเรื่องคือทั้งคู่ (ในวัยหกสิบ) เดินลงสู่ทะเลและ “...ว่ายออกไปให้ไกลที่สุด...จนสุดท้ายของลมหายใจเฮือกสุดท้าย” (หน้า ๕๒) ซึ่งนี้ก็ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการกระโจนลงสู่ห้วงมหาสมุทรแห่งความรัก-ใคร่อีกครั้งตามวิถีสามัญแห่งปัจเจก ก่อนชีวิตดับสูญ

  เรื่องนี้ผู้เขียนเขียนได้อย่างลงตัว เผยให้เห็นความคิด ความรู้สึกของปัจเจกชนออกมาได้อย่างหมดเปลือก อีกทั้งยังฉายให้เห็นความนึกคิดของนักอุดมการณ์ที่ได้เปลี่ยนความคิดไปพร้อมกับกาลเวลาว่า

  “...สังคมกำลังหักเห ลมกำลังเปลี่ยนทิศ อุดมการณ์กลายเป็นทฤษฎีตบตา มูลค่าการซื้อขายในประเทศถีบตัวสูงขึ้นแบบที่คนสติดีไม่เคยนึกฝัน ระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอากำลังเฟืองฟูล้นประสิทธิภาพ ในฐานะผู้อยู่ในเกม เขาควรรีบโกยเหมือนเด็กแย่งทานในงานบุญ” (หน้า ๔๗)

  นี่กระมั่งที่เป็นคำตอบของคำถามที่ว่า “นักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์หายไปในจากสังคม”

๓.เรื่อง ‘แม่จักรกล’

  เทคโนโลยีต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมานั้น ล้วนแต่เป็นไปเพื่อการดำรงอยู่และอำนวยความสะดวกสบายแก่มวลมนุษยชาติแทบทั้งสิ้น และเกือบทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ก็มีทั้งด้านดีและด้านร้ายด้วยกันทั้งนั้น เทคโนโลยีก็ไม่ได้รับการยกเว้นจากกฎข้อนี้ไปได้ โดยเฉพาะสังคมยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งดังกล่าวมากเป็นพิเศษ แทบจะเรียกได้ว่าตลอดเวลา (หรือตลอดชีวิต) ในชีวิตประจำวันของมนุษย์นั้นล้วนแต่เกี่ยวพันกับสิ่งที่เราเรียกว่า ‘เทคโนโลยี’ อยู่ตลอด ฉะนั้นไม่สงสัยเลยว่าทำไมปัญหาสังคม โดยเฉพาะสังคมวัยรุ่นนั้นจึงเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปัญหาอาชญากรรม ขมขืน ฯลฯ เพราะปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘เทคโนโลยี’ แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ วีดีโอเกม ซึ่งทั้งหมดก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมยุคใหม่แทบจะเรียกได้ว่าอย่าง ‘สมบูรณ์’ และโดยที่เราไม่รู้ตัวมันก็เข้ามาครอบงำความคิด ความรู้สึกของมนุษย์ได้อย่างกลมกลืน

  ‘แม่จักรกล’ เรื่องสั้นที่สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นได้เป็นอย่างดี ตัวละครผู้เป็นแม่และพ่อซึ่งมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับที่ทำงาน ปล่อยให้ลูก (ผู้หญิง) อยู่กับพี่เลี้ยงที่เอาแต่ “…คุยโทรศัพท์กับเพื่อนหรือแฟนอย่างออกรสชาติ…” (หน้า ๕๖) ฉะนั้นเมื่อเด็กอยู่ตามลำพังกับพี่เลี้ยงจึง “...ถูกตะคอก ตวาด ผลัก ดันอย่างหงุดหงิดรำคาญ บางครั้งก็ถูกจับกระแทกหรือตีเพราะเสียอารมณ์” (หน้า ๕๖) ซึ่งพ่อ-แม่ของเด็กก็ไม่รู้เรื่องนี้ เพราะพี่เลี้ยงมักจะอ้างว่าเป็นอุบัติเหตุ

  แต่เมื่อแม่ของเด็กมีเวลาเลี้ยงลูกก็เลี้ยงแบบโลกตะวันตกที่ “ได้ยินมาว่าแม่ทางซีกโลกตะวันตกไม่ตีลูก ให้อิสระแก่ลูกที่จะทำสิ่งต่างๆ...” (หน้า ๕๗) โดยไม่เข้าใจบริบททางสังคมอย่างแท้จริง จึงทำให้เด็กกลายเป็นคน “...ไม่เคยไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้ ไม่เคยไม่มีในสิ่งที่เพื่อนมี แค่เพียงเอ่ยปากออดอ้อนหรือออกแรงร้องไห้กระทืบเท้า ไม่ยอมกินข้าวบางมื้อ พ่อแม่ก็ต้องหามาประเคน พร้อมทั้งปลอบกันเองว่า – ลูกยังเล็กนัก” (หน้า ๕๘)

  ทว่าเมื่อเด็กโตเป็นสาวก็ยังเลี้ยงลูกแบบตามใจและเอาใจจนเกินขอบเขตถึงขนาดว่า

  “เรื่องช่วยแบ่งเบาภาระไม่ต้องพูดถึง อย่าว่าแต่ล้างจาน กวาดบ้านถูกบ้าน (ซึ่งต่อมาเป็นงานของลูกจ้างทำงานบ้านไปโดยปริยาย) แค่จับมีดปลอกผลไม้กินเองก็ยังขัดเขิน ครั้งหนึ่งเราส่งเพื่อนล่องหนไปผลักมือขณะหล่อนถือมืดให้คมมีดบาดนิ้วจนเลือดไหล หล่อนร้องไห้เหมือนใกล้ตาย พ่อแม่ตระหนกตกตื่น วิ่งปฐมพยาบาลกันจ้าละหวั่น แล้วห้ามไม่ให้หล่อนแตะมีดอีก”
(หน้า ๕๙-๖๐)

  ฉะนั้นเวลาส่วนใหญ่ของเด็กสาวหลังกลับจากโรงเรียนจึงอยู่ที่

  “ทุกวันหลังกลับจากโรงเรียน หล่อนจะจดจ่ออยู่แต่หน้าจอเกมคอมพิวเตอร์ จับจ้องโทรทัศน์ เฮฮากับรายการเกมโชว์ มีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครโทรทัศน์ดาษดื่น อยากมีอยากได้ตามคำชักจูงของโฆษณาสารพัน” (หน้า ๖๐)

  และด้วยการเลี้ยงเช่นนี้เองส่งผลให้เด็กสาวมีพฤติกรรมที่เอาแต่ใจ สร้างเงื่อนไขและสร้างสถานการณ์ต่างๆ มาต่อรองเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการเช่น เมื่อพ่อขีดเส้นตายห้ามคบกับชายหนุ่ม เพราะว่ายังไม่ถึงเวลา เด็กสาวถึงขนาดยอมลงทุนโดย

  “...หล่อนลงทุนกลืนน้ำยาล้างห้องน้ำ (แอบผสมน้ำเจือจาง) เข้าท้องคืนนั้น พ่อจึงลดบทบาทตนกลับสู่ที่เดิม” (หน้า๖๒)

  และตั้งแต่นั้นมา เด็กสาวจึงได้คบกับชายหนุ่มอย่างสมใจจนเกิดพลาดท้องและแอบขโมยเงินของแม่ไปทำแท้ง สุดท้ายชายหนุ่มก็ตีจากไปมีคนใหม่ เด็กสาวรู้ (จากปากของแม่) ความที่ไม่เคยมีใครขัดใจและเป็นคนที่ไม่เคยเสียสละให้ใครฟรีๆ จึงทำให้เด็กสาวก่อปัญหาอาชญากรรมขึ้นโดยยิงเด็กหนุ่มตายและยิงตัวเองตาม (แต่เด็กสาวไม่ตาย)

  เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเลี้ยงดูของพ่อ-แม่ในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แม้ประเด็นปัญหาจะยังไม่มีแง่มุมที่ใหม่นัก ทว่าสิ่งที่ผู้เขียนทำได้ดีคือการเขียนที่มุ่งเน้นไปที่การบรรยายต้นเหตุและผลของพฤติกรรมของตัวละครที่สะท้อนออกมาจากการเลี้ยงดู อย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ

๔.เรื่อง ‘ความผิด’

  คำสอนที่สืบทอดต่อๆ กันมาหลายชั่วอายุคน เรามักพบว่าล้วนแต่เป็นคำสอนที่ดี โดยเฉพาะถ้าผู้ใดได้ปฏิบัติตาม ทว่าสังคมและยุคสมัยเปลี่ยนไปอยู่เสมอ คำสอนจากคนยุคหนึ่ง อาจจะไม่ก่อให้เกิดผลดีแก่ตัวผู้ปฏิบัติในอีกยุคอีกสมัยหนึ่งก็ได้ เช่นเรื่องสั้นเรื่อง ‘ความผิด’

  ‘ความผิด’ เป็นเรื่องของหญิงคนหนึ่งซึ่งต้องต่อสู้กับความรู้สึกผิดในจิตใจที่ฝังลึกจากการตายของแม่ โดยเธอถูกน้องสาวกล่าวหา (ลับหลัง) ว่าแม่ตายเพราะเธอไม่ยอมพาแม่ไปฉีดยาหลังจากที่แม่ถูกตะปูขึ้นสนิมแทงที่ใต้ฝ่าเท้า เป็นผลทำให้แม่ของเธอเป็นโรคบาดทะยักจนต้องตัดขาทิ้งและตายไปในที่สุด อันที่จริงเรื่องนี้ (การตายของแม่) จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าเธอหรือน้องพาแม่ไปรักษาเสียตั้งแต่ต้น แต่ด้วยความที่เธอมีภาระการงานมากมายจึง “…ฉันจำต้องปัดภาระให้น้อง...” (หน้า ๗๒) แต่น้องสาวของเธอเองกลับคิดว่า “...ในเมื่อแม่ไม่เอ่ยปาก หล่อนจึงมั่นใจว่าฉันพาท่านไปฉีดยาแล้ว” (หน้า ๗๒) ซึ่งผู้เขียนชี้ให้เห็นถึง สังคมครอบครัวที่ถูกถ่างกว้างออกจากกันด้วยภาระหน้าที่การงาน ถึงแม้จะใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเดียวกัน แต่เวลาส่วนใหญ่กลับหมดไปกับการเดินทางไปทำงาน (โรงเรียน-มหาวิทยาลัย) บ้านจึงเป็นเพียงแค่ที่ซุกหัวนอนเพื่อเป็นเกาะป้องกันการถูกตราหน้าว่า ‘คนจรจัด’ เท่านั้น

  การถูกน้องสาวกล่าวหาลับหลังให้บรรดาญาติๆ ว่าเธอมีส่วนทำให้แม่ต้องตายนั้นฝังลึกเข้าไปในจิตใจของเธอ ผนวกกับเธอตกงานอย่างกะทันหันทำให้เธอเกิดอาการเครียด เป็นผลให้เธอคิดมากจนเกิดอาการทางจิตที่ตอกย้ำอยู่กับความผิดอย่างซ้ำซาก ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเธอปฏิเสธและตามแก้ข้อกล่าวหาในประเด็นเรื่องการตายของแม่ก็คงไม่มีอะไรเลวร้ายนัก ทว่าผู้เขียนได้สร้างตัวละครให้เกิดปมทางจิตกับคำสอนของแม่เมื่อครั้งหนึ่งในวัยเด็กของเธอ และปมนั้นก็คือ

  “...แม่ลงโทษฉันด้วยไม้เรียวตอนอายุ ๘ ขวบ เพราะต่อยเด็กชายร่วมห้องเรียนปากแตก ด้วยเหตุที่เขาบอกว่าเด็กผู้หญิงโง่งี่เง่า และภาพสมัยมัธยมซึ่งฉันมักเข้าห้องเรียนวิขาจริยธรรมสาย โยนร้องเท้าเสียงดังโครมบนที่เก็บหลังห้องให้ทุกคนได้ยินทุกครั้งโดยเฉพาะครูผู้ชายผู้สอน มานั่งขีดเขียนเล่นอย่างต่อต้านแทนการตั้งใจฟังเขา เพราะคาบแรกของเขาไม่พอใจความซุกซนของฉัน จึงกล่าวหาว่าฉันหลงความสวยของตัวเอง มาเรียนเพื่อหาผัวรวยๆ อีกระดับหนึ่ง ครั้งเล่าให้แม่ฟังอย่างผู้ชนะเมื่อฉันสามารถทำคะแนนสูงสุดในระดับชั้นได้ แม่โกรธมาก ตีฉันนับทีไม่ถ้วน ราวกับกำลังฆ่าแมลงศัตรูพืช หรือหน่อพันธุ์อันผิดเพี้ยนเพื่อให้ลูกสาวคนโตได้เติบใหญ่เป็นส้มชั้นดีอย่างที่แม่เป็น (หน้า ๗๕-๗๖)

  ซึ่งสาเหตุที่แม่ทำโทษเธอก็เพราะ

  “คิดแต่เอาชนะคะคานกันแบบนี้ ชีวิตจะมีความสุขไปได้อย่างไร” แม่พูดหลังวางไม้เรียว (หน้า ๗๖)

  และแม่ก็หยิบยืนคำสอนที่สืบทอดต่อๆ กันมาว่า

  “เราต้องให้อภัยคนแบบนี้” แม่ลูบหัวฉันอย่างปลอบโยน “และหลีกเลี่ยงการปะทะกับเขาทุกรูปแบบ เพราะเขาคิดได้แค่นี้ ทั้งที่อายุอานามขนาดนั้นแล้ว ไม่ว่าหนูพิสูจน์ให้เห็นความจริงอื่นใด เขาไม่มีทางเข้าใจได้มากกว่าเก่าหรอก หนูจะเปลืองสมอง เปลืองเวลาเปล่าๆ ปลี้ๆ”
  (หน้า ๗๖)

  นี่เองที่เป็นปมที่ทำให้เธอไม่ตอบโต้ ปฏิเสธ หรือโต้แย้งใดๆ กับคำกล่าวของน้อง แม้ว่าเธอจะพูดกับน้องสาวของเธอเมื่อครั้งหนึ่ง แต่กลับถูกย้อนกลับด้วยการทวงบุญคุณที่น้องสาวกับสามี ไม่ขายมรดกแล้วไปซื้อคอนโดอยู่กันเองเพราะกลัวเธอจะเหงา

  เรื่องนี้ผู้เขียนได้บรรยายถึงความขัดแย้งที่อยู่ภายในใจของตัวละครได้ดี สะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจของตัวละครที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของปมปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก ซึ่งอิทธิพลของมันมีมากจนอยู่เหนือความรู้สึกของเธอ จนสุดท้ายมันก็ส่งผลให้เธอต้องตกอยู่ภายใต้ภาพหลอนต่างๆ นานาที่เธอสร้างขึ้น แล้วเธอก็ “ฉันกลายเป็นเหยื่อรายใหม่ของจิตแพทย์...” (หน้า ๗๑)

๕.เรื่อง ‘คน’

  เรื่องที่ว่าด้วยความรู้สึกแปลกแยกของตัวละคร ซึ่งผู้เขียนถ่ายทอดออกมาในแนวการเขียนแบบเหนือจริง (Surrealism) โดยให้ตัวละครเอกหญิงสาวตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าตนเองอยู่ในกระเพาะอาหารของมนุษย์ ซึ่งกำลังย่อยอาหารที่ถูกกินเข้าไป ผู้เขียนได้เขียนถึงกระบวนการย่อยอย่างเป็นระบบก่อนที่อาหารเหล่านั้นจะกลายเป็นของเสีย (ส่วนเกินของร่างกาย) และถูกขับถ่ายออกไปในที่สุด หญิงสาวจึงต้องพยายามดิ้นรนไม่ให้ตนเองถูกย่อยเป็นของเสีย เพื่อถูกขับถ่ายออกไปอย่างไร้ค่า สุดท้ายเธอพยายามจนสำเร็จ “...เมื่อกำลังป่ายปีนเข้าสู่หลอดอาหาร ลมจากกระเพาะอาหารก็ผลักพัดร่างฉันให้ลื่นพรวดผ่านลำคอออกมาจากปาก…” (หน้า ๙๙)

  โดยแก่นของเรื่องแล้วเรื่องนี้ก็ไม่ได้นำเสนอประเด็ดปัญหาอะไรใหม่นัก เสมือนเรื่องของคนที่รู้สึกแปลกแยกต่อผู้คนและสังคมรอบกายที่พบเห็นอยู่ทั่วไป ทว่าเรื่องนี้จะต่างกับเรื่องที่กล่าวมาตรงที่ ตัวละครไม่ได้รู้สึกแปลกแยกกับระบบทุนนิยม โดยที่หญิงสาวให้เหตุผลว่า

  “ก็ฉันทำงานรับใช้ทุนนิยม ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อก้าวเข้ามาแล้วก็ต้องทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้เต็มประสิทธิภาพ” ฉันบอก (หน้า๙๓)

  และ

  “ดวงตาของหล่อนจ้องมองราวกับเห็นฉันเป็นคนแปลกหน้า จริงอยู่ทุกคนต้องเรียนรู้ประโยคเหล่านี้จากวิชาหน้าที่พลเมืองในห้องเรียนชั้นประถม ไม่ว่าสังคมจะถูกครอบด้วยลัทธิใด พอใจหรือไม่ แต่สิ่งที่ทุกคนต้องยึดมั่นคือ ศีลธรรมและหน้าที่” (หน้า ๙๓)

  แต่สิ่งที่ทำให้ตัวละครรู้สึกแปลกแยกก็คือ พฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์ที่กระทำต่างหากที่ทำให้รู้สึกแปลกแยก ดังคำต่อว่าของเพื่อนร่วมงานว่า

  “...เพื่อนร่วมงานบางคนต่อว่าฉันจริงจังและเที่ยงตรงต่อกฎระเบียบของบริษัทเกินไป”                              (หน้า ๙๓)

  และเมื่อประเด็นของเรื่องอยู่ที่ความรู้สึกแปลกแยกดังกล่าวข้างต้น จึงพอทำให้เห็นภาพร่วมของสังคมยุคปัจจุบันได้ว่า ความรู้สึกแปลกแยกนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับระบบใดๆ ที่ครอบสังคมเราอยู่ หากอยู่ที่ความคิดและการกระทำของมนุษย์ต่อมนุษย์ต่างหากที่ทำให้คนเรามีความรู้สึกแปลกแยกต่อกัน ระบบดังกล่าวจึงเป็นเพียงเครื่องมือที่ถูกกล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนและสร้างความชอบธรรมให้กับความคิดของตนเองเท่านั้น


๖.เรื่อง ‘คนขายตัว’

  เรื่องของหญิงสาวที่ขายอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น กล่องเสียง ไต นม จนสุดท้ายเธอกำลังจะขายหัวใจ

  เป็นเรื่องที่วิพากษ์ระบบทุนนิยมที่ “...จะเอื้อสิทธิและเสรีภาพในการค้า เพื่อความกินดีอยู่ดีของมวลมนุษย์ทุกหมู่เหล่าอย่างทั่วถึง...” (หน้า ๑๐๑) ได้อย่างค่อนข้างน่าอ่านเรื่องหนึ่ง ชี้ให้เห็นถึงอำนาจของเงินตราที่มีอยู่เหนือศักดิ์ศรีและจิตใจของมนุษย์ ดังคำที่เรามักได้ยินอยู่เสมอว่า ‘เงินคือพระเจ้า’

๗.เรื่อง ‘คนกลับตัว’

  เรื่องของชายหนุ่มที่ประสบความสำเร็จในชีวิตเกือบทุกอย่าง ทั้งหน้าที่การงาน เงินทอง แต่กลับ “...รู้สึกเหงา โดดเดี่ยวและไร้ค่า ยิ่งทบทวนประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมา ยิ่งรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นจุลินทรีย์ที่น่าจะเหยียบบี้แบนจมดิน” (หน้า ๑๑๑)

  ในเรื่องนี้ผู้เขียนได้สร้างปมปัญหาที่ทำให้เกิดความรู้สึกดั่ง

Comment #1
Posted @December,06 2006 20.46 ip : 161...106

มาอ่านครับ  พี่แสงศรัทธา

ยินดีกับรางวัลนะครับ

ผมอ่านงานของพี่เมื่อนานแล้ว  คราวที่ไปรับค่าเรื่อง  พี่นิคม  ใจดี  ให้มา

บอกว่า  เล่มนี้ส่งประกวดด้วย  ผมก็รอลุ้นอยู่

คาดว่าปีหน้าคงได้คว้ารางวัลดีเด่นนะครับ

Comment #2
จรรยา
Posted @December,09 2006 19.41 ip : 203...154

ยอดเยี่ยมครับ

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ