บทความ

สายธาร ตำนานศิลป์ : แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย(2)

by Pookun @March,01 2007 20.18 ( IP : 222...32 ) | Tags : บทความ

สายธาร  ตำนานศิลป์ : แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย (2) โดย  วงศ์ไหม  เมืองล้านนา

แล้วการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2519 ก็ปรากฏผล  การต่อต้านทุกรูปแบบของขบวนการฝ่ายขวาจัดที่ทำกับนักการเมืองฝ่ายก้าวหน้าได้ผลรับเป็นที่พึงพอใจ เมื่อพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าและสังคมนิยมพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างมโหฬาร  พรรคประชาธิปัตย์โดยการนำของ ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช ชนะการเลือกตั้งพร้อมกับพรรคการเมืองฝ่ายขวา  พรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าลดจำนวนลงจากร้อยละสิบห้าเหลือเพียงร้อยละสองของที่นั่งทั้งหมดในสภาผู้แทนฯ เมื่อสภาพเป็นเช่นนี้ทำให้เห็นได้ว่าพลังฝ่ายก้าวหน้าได้ค่อยๆ หมดความเข้มแข็งลงไปทีละน้อย  แต่ก็ยังมีความเชื่อมั่นกับการต่อสู้นอกสภา  ขบวนการฝ่ายขวาจัดเริ่มมองเห็นวิธีการเผด็จศึกด้วยแผนการอย่างต่อเนื่อง คึกฤทธิ์เองก็กลายเป็น ส.ส. สอบตกในเขตดุสิตซึ่งเป็นเขตทหาร  พรรคประชาธิปัตย์โดยการนำของ ม.ร.ว.เสนีย์ฯ  ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล  กลุ่มพลังขวาจัดต่างๆ ได้กระหน่ำโจมตีขบวนการนักศึกษา  ประชาชน  ทั้งทางวิทยุและ    โทรทัศน์  ซึ่งอยู่ในการดูแลของพรรคการเมืองฝ่ายขวาในรัฐบาล  ผู้ที่จะออกรายการได้ต้องเป็นพวกของตนและจะต้องพูดโจมตี  นักศึกษา  กรรมกร  ชาวนา  ชาวไร่  ปัญญาชนก้าวหน้า

ช่วงเดียวกันนี้  สุธรรม  แสงประทุม  จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยคนใหม่  ชัชวาลย์  ปทุมวิทย์  จากแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยก็รั้งตำแหน่งประธานแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติแทนสุธรรมฯ  ธงชัย  วินิจจะกูล  จากธรรมศาสตร์  ขึ้นไปช่วยงานเป็นรองนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เดือนเมษายน พ.ศ.2519 พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ผู้มีบทบาทสำคัญในการผนึกความสามัคคีในกองทัพและมีบทบาทอยู่เบื้องหลังการเมือง  ได้ถึงแก่กรรมอย่างปัจจุบันทันด่วนยิ่ง  นับเป็นลางร้ายสำหรับขบวนการนักศึกษา  ประชาชนฝ่ายก้าวหน้า

ระยะเวลานี้ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นปกครองของประเทศดุเดือดรุนแรงขึ้น  วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2519  มีผู้นำจอมพลประภาส  จารุเสถียร  กลับเข้าประเทศ  อ้างว่าจะมารักษาตาที่มองไม่ค่อยเห็น  เมื่อข่าวแพร่ออกไป ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, แนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาชน, ศูนย์กลางนักศึกษาครูแห่งประเทศไทย  และองค์กรฝ่ายประชาชนต่างๆ ได้นัดชุมนุมประชาชนให้ทางการจับตัวมาดำเนินคดีกรณีเป็นหนึ่งในสามทรราชที่ออกคำสั่งเข่นฆ่าประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 การชุมนุมยืดเยื้อเริ่มจากสนามหลวงและมุ่งสู่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์  ระยะหลังสถานการณ์ในที่ชุมนุมมักมีเหตุการณ์ตึงเครียดเสมอ  การตรวจตราค้นอาวุธเข้มงวดขึ้น โดยนักศึกษากิจกรรมและกำลังของแนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาชนโดยการนำของ โอริสสา  ไอยราวัณวัฒน์ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะแห่งประเทศไทยที่ยอมเป็นเครื่องมือของกลุ่มกระทิงแดง  จึงแยกตัวออกมาพร้อมด้วยนักศึกษาอาชีวะส่วนหนึ่ง  หนุนช่วยงานเคลื่อนไหวของฝ่ายนักศึกษาประชาชน ศูนย์กลางนักศึกษาครูรับหน้าที่เป็นแม่งานใหญ่สำหรับเสบียงอาหารของที่ชุมนุม  แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยได้จัดสมาชิกไปร่วมเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยร่วมกับ นักศึกษากิจกรรมจากที่อื่นๆ โดยเฉพาะด้านกำแพงพิพิธภัณฑ์และวิทยาลัยนาฏศิลป์ ช่างศิลป์, ด้านประตูมหาวิทยาลัยหน้าหอใหญ่ ประตูรั้วด้านหอเล็กยามค่ำคืนเป็นจุดที่ล่อแหลมยิ่ง ฝ่ายตรงข้ามสามารถแทรกตัวเข้ามาก่อกวนได้ง่าย พวกที่อาสามาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่ได้มีอะไรเป็นเครื่องมือป้องกันอันตรายนอกจากมือเปล่า บางคนไปงัดหาเศษไม้มาถือไว้เพื่อให้เกิดความอุ่นใจเท่านั้น  เพราะลำพังเพียงเศษไม้ไม่สามารถป้องกันอาวุธสงครามได้แม้แต่น้อย  แต่ทุกคนที่ขันอาสามาช่วยไม่ได้ระย่อใจ  หัวใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่น  ความเป็นธรรมสิ่งที่ถูกต้องย่อมอยู่เคียงข้างกับประชาชนผู้บริสุทธิ์  ดูไปแล้วความคิดเหล่านี้อาจเดียงสาเกินไปก็ได้?

ทุกครั้งที่มีการชุมนุมประชาชนผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนองค์กรแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยขึ้นเวทีปราศรัยคือ  ชัชวาลย์  ปทุมวิทย์  และเมื่อ ชัชวาลย์  ปทุมวิทย์ ไปเป็นประธานแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติแล้ว  คณะกรรมการองค์กรเห็นว่าควรมีผู้อื่นรับหน้าที่บนเวทีระหว่างชุมนุมทางการเมืองของประชาชน  โชคชัย  ตักโพธิ์  คือผู้รับหน้าที่นั้นในคราวชุมนุมประชาชนที่ท้องสนามหลวงต่อต้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลประภาส  จารุเสถียร

วันหนึ่งของการชุมนุมฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก น้ำฝนเจิ่งนองทั่วสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ “ตกลง มาฝนตกลงมา  เทลงมา  ฝนเทลงมา  ให้มวลประชาได้ชื่นใจ”  บทเพลงของ มงคล อุทก  ดังกึกก้องจากเวที  ประชาชนก็กรำฝนมากลางสนามฟุตบอล  ต่อกันเป็นแถวยาวนับพันคนเหมือนงูกินหาง  นำทีมหัวขบวนโดยสมาชิกแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยลดอุณหภูมิให้ผ่อนคลายลง

วันยื่นคำขาดให้จับตัวจอมพลประภาส มาลงโทษนั้น นักศึกษาจากรามคำแหงและประชาชนเดินทางมาสมทบที่ธรรมศาสตร์อีกกว่าหมื่นคณะ  ขณะที่เคลื่อนตัวจากสนามหลวงเข้าสมทบนั้น  เสียงระเบิดดังติดต่อกัน…สนั่น… มีผู้บาดเจ็บจมกองเลือดหลายคนทันที  ฝ่ายรักษาความปลอดภัยช่วยกันเคลียร์พื้นที่  ผู้ต้องสงสัยถูกจับตัว  เมื่อสืบสวนแล้วเป็นการจับผิดตัว  เพราะตัวการที่แฝงปะปนฝูงชนเข้ามาขว้างระเบิด  หลบหนีไปด้วยมอเตอร์ไซค์  วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่มีประชาชนมาร่วมชุมนุมมาก  หลายหมื่นคนท่ามกลางเหตุการณ์ระเบิดอย่างรุนแรง  วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2519 จอมพลประภาส จารุเสถียร  ก็เดินทางออกจากประเทศไทย  การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงยุติลง

หลังจาก พลเอกฤษณ์ สีวะรา ถึงแก่กรรม ข่าวลือเรื่องการยึดอำนาจทำรัฐประหารของคณะทหารระดับสูงก็ปรากฏเป็นระลอก  องค์กรฝ่ายนักศึกษา  ประชาชนก้าวหน้า  ประชุมวิเคราะห์สถานการณ์กันอย่างจริงจังท่ามกลางบรรยากาศนี้  สมาชิกแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยได้เปิดการสนทนาภายในอย่างเข้มข้นต่อเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มไปสู่การทำรัฐประหาร  ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น  พวกเราจะปกป้องรักษา  ประชาธิปไตย  จนถึงที่สุด?  หลายครั้งที่กลุ่มก่อกวนมักแอบซ้อนมอเตอร์ไซค์มาจุดไฟเผาป้ายคัตเอาท์ที่มีข้อความระบุว่า  สถานที่แห่งนี้คือ  ที่สร้างอนุสรณ์สถานวีรชน  14 ตุลาคม บริเวณริมฟุตบาทหน้าตึก กตป. เดิม  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเวลาค่ำคืน  สมาชิกแนวร่วมศิลปินฯ  ที่ประจำการอยู่บนตึก กตป. จะรีบกรูกันมาดับไฟ ส่วนที่เอาการเอางานและอยู่ปฏิบัติงานสม่ำเสมอ  มี มนัส เศียรสิงห์ (แดง) เป็นตัวยืนที่อยู่ประจำ  หน่วยกองหน้ายังประกอบด้วย สถาพร ไชยเศรษฐ (โย่ง) ทันพงษ์  รัศนานันท์  (ตู่)  ศาณิต  รัตตโณภา  สิงห์น้อย  ฟูสวัสดิ์สถาพร  พิชัย  ฝันเยื้อง (เล็ก) สินธุ์สวัสดิ์      ยอดบางเตย  สมบัติ  ฤทัยสุข  เกษม  เหล่าสืบสกุลไทย  ลิขิต  งามเสน  (ปุ้ย)  วีระศักดิ์  ขันแก้ว (ดำ) ส่วน  สันติ  อิศโรวุธกุล  ประธานองค์กร  ถกล  ปรียาคณิตพงศ์  ลาวัณย์  อุปอินทร์  (ดาวราย)  ต้วง  นิตยะนันทะ  ประเสริฐ  เทพารักษ์  รวมถึง  พิเชษฐ  เศรษฐานนท์  (จั๊ก) ก็ไม่ได้ขาดหายไปไหน  หมุนเวียนมาช่วยปฏิบัติภารกิจที่ตึก กตป. แม้สถานการณ์จะแรงขึ้นปานใดก็มิได้หวั่นไหว  ได้มีการจับกลุ่มเสวนากันว่าถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงจากฝ่ายตรงข้ามจนจำเป็นต้องอำพรางตัว  อาจต้องใช้ชื่อปลอมกันบ้าง  หลายคนพูดเชิงทีเล่นทีจริงว่า  ถ้าตัวใหญ่ต้องใช้ชื่อว่า “เล็ก” บางคนตัวเล็กต้องใช้ชื่อว่า “ใหญ่” แม้แนวโน้มเริ่มปรากฏให้เห็นถึงความเลวร้ายที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการสร้างสถานการณ์ของฝ่ายปฏิกิริยาขวาจัด  แต่มวลสมาชิกกองหน้าของแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย  ยังทำงานหนุนช่วยงานสื่อศิลปะให้กับองค์กรประชาชนที่แสวงหาความเป็นธรรมอยู่สม่ำเสมอ ช่วงนี้แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยได้จัดแสดงงานภาพเขียนขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยความร่วมมือของสโมสรนิสิตจุฬาฯ และกลุ่มกิจกรรม

สถานการณ์ในคณะรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ฯ มีแต่ความขัดแย้ง  มีการช่วงชิงกันขึ้นเป็นระดับนำในกองทัพ  กลุ่มนายทหารขวาจัดโดยการสนับสนุนของขบวนการขวาตกขอบทั้งหลายพยายามผลักดันความคิดนำจอมพลถนอม  กิตติขจร  กลับเข้าประเทศ  พอถึงวันที่ 28 สิงหาคม  พ.ศ.2519  จงกล  กิตติขจร  ภรรยาจอมพลถนอมฯ ก็เดินทางเข้าประเทศ  และติดต่อกับรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ฯ จะเอาจอมพลถนอมฯ บวชเป็นสามเณรกลับเข้ามาดูแลอาการป่วยของพ่อ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 31 สิงหาคม  พ.ศ.2519 มีความเห็นว่า จอมพลถนอมฯ ยังไม่ควรกลับเข้าประเทศ  ความขัดแย้งของระดับนำในช่วงนี้คือ การแต่งตั้ง โยกย้าย นายทหารประจำปี กลุ่มทหารของกฤษณ์ฯ เดิม ได้รับการสนับ สนุนจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ไปรับตำแหน่งสำคัญในกองทัพ  ส่วนกลุ่มอื่นถูกวางตำแหน่งหน้าที่ที่ไม่ใช่ตำแหน่งสำคัญ ผู้ที่สูญเสียตำแหน่งและอำนาจสำคัญทางการทหารได้ร่วมมือกันกับขบวนการขวาจัด  นำจอมพลถนอมฯ  กลับเข้าประเทศไทย  เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2519 เพื่อสั่นคลอน เสถียรภาพของรัฐบาลเสนีย์  ปราโมช  จอมพลถนอมฯ บวชเป็นสามเณรเข้ามาพำนักที่วัดบวรฯ บางลำพู  รัฐบาลเสนีย์ฯ เกิดความขัดแย้งกันอย่างหนัก  รัฐมนตรีส่วนหนึ่งต้องการให้นำจอมพลถนอมฯ ออกนอกประเทศ  แต่อีกส่วนหนึ่งที่มีความคิดขวาตกขอบดื้อดึงและคัดค้านอย่างหนัก จนนายกฯ เสนีย์  ไม่สามารถตัดสินใจทำอะไรได้เด็ดขาดนอกจากให้สัมภาษณ์ “…นักศึกษามีสิทธิ์ ชุมนุมคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอมฯ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ”

ทางด้านขบวนนักศึกษาได้พยายามพิจารณาเรื่องราวอย่างรอบคอบและเห็นว่าการนำจอมพลถนอมฯ กลับเข้ามาครั้งนี้มีการเตรียมการมาอย่างดี  โดยการอ้างมาดูแลพ่อที่ป่วยอยู่และเข้ามาในคราบผ้าเหลือง  ขบวนการนักศึกษาได้ยื่นเรื่องให้รัฐบาลจัดการ  ขณะเดียวกันได้ส่งนิสิตนักศึกษาออกสำรวจความคิด เห็นและทำความเข้าใจกับประชาชน  ให้องค์การนักศึกษาทุกสถาบันการศึกษาต่างๆ จัดพิมพ์ใบปลิว  โปสเตอร์ จัดสนทนา  อภิปรายในเรื่องนี้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนมากที่สุดและเตรียมความคิดถ้าจำเป็นต้องมีการชุมนุมเคลื่อนไหวใหญ่

ทางด้านรัฐบาลเสนีย์ฯ  การที่จอมพลถนอมฯ กลับเข้ามานั้น  สั่นคลอนรัฐบาล  ยิ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็แตกแยกไปคนละขั้ว  มีการวางแผนให้  ม.ร.ว.เสนีย์ฯ ลาออกจากตำแหน่งก่อน  จุดหมายคือปรับปรุงคณะรัฐมนตรีโดยหวังจะตัดพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลและ ส.ส. ประชาธิปัตย์บางส่วนที่ร่วมมือสมคบนำจอมพลถนอมฯ กลับเข้าประเทศ  แต่แผนดังกล่าวก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด ม.ร.ว.เสนีย์ฯ ถูกบีบจากกลุ่มที่มีอิทธิพลเหนือกว่าให้ต้องรับพรรคการเมืองและ ส.ส.ขวาตกขอบกลับมาร่วมรัฐบาลอีก

เมื่อขบวนการฝ่ายนักศึกษา-ประชาชนก้าวหน้า ได้ออกทำความเข้าใจกับประชาชนกรณีให้รัฐบาลเร่งดำเนินการกับจอมพลถนอมฯ ได้ระยะหนึ่ง เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จได้  จึงนัดชุมนุมประชาชนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2519  การจัดชุมนุมครั้งนี้เป็นการชี้แจงเจตนารมณ์ที่คัดค้านเผด็จการต่อต้านรัฐประหาร ในเวลาเดียวกันก็ให้โอกาสรัฐบาลหาหนทางดำเนินการกับจอมพลถนอมฯ โดยเร็ว

กระแสการคัดค้านทรราชย์สูงขึ้น หลังจากมีการสำรวจความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปแล้ว  แต่รัฐบาลเสนีย์ฯ ยังไม่สามารถจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งกับจอมพลถนอมฯ ได้ ขบวนการนักศึกษา  ประชาชน  โดยการนำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย  จึงได้นัดชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง  ในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2519 การชุมนุมครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นการเรียกร้องให้จับกุมผู้ทำการแขวนคอพนักงานไฟฟ้านครปฐม ซึ่งออกไปติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอมฯ และถูกตำรวจจับ  ต่อมามีผู้พบศพพนักงานไฟฟ้าทั้งสองคนถูกแขวนคอจนเสียชีวิต (ตำรวจที่จับพนักงานไฟฟ้าถูกจับในข้อหาฆ่าคนตาย แต่ได้รับการปล่อยตัวอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นาน) อีกส่วนหนึ่งให้จัดการอย่างเด็ดขาดกับจอมพลถนอมฯ การชุมนุมที่สนามหลวงครั้งนี้ถูกก่อกวนอย่างหนักจากกลุ่มกระทิงแดง  แต่สามารถคลี่คลายเหตุการณ์ลงได้  มีประชาชนร่วมชุมนุมหลายหมื่นคน  ก่อนจะสลายชุมนุม  เพื่อดำเนินความชอบธรรมในขั้นต่อไป ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ยื่นคำขาดขอฟังคำตอบจากรัฐบาลในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2519

ในการประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอมฯ นี้ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ได้รับความร่วมมือจากญาติวีรชน 14 ตุลาฯ และวีรชนผู้บาดเจ็บ พิการ จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ทำการอดอาหารประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล  เจ้าหน้าที่บ้านเมืองพยายามขัดขวางเต็มที่  ฉะนั้นในวันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2519 ด้วยความร่วมมือของนักศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ญาติวีรชนจึงย้ายมาอดอาหารที่ลานโพธิ์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทน

วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2519  นักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่ยอมเข้าห้องสอบ  เวลาใกล้เที่ยงมีนักศึกษาและประชาชนทยอยสมทบเพิ่ม  นักศึกษาได้จัดอภิปรายเรื่อง  การเดินทางกลับมาของจอมพลถนอมฯ และเรื่องการฆ่าแขวนคอพนักงานไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนครปฐม มีผู้สนใจอยู่พอสมควร ต่อด้วยการแสดงละครจับพนักงานไฟฟ้าแขวนคอ  โดย ชุมนุมนาฏศิลป์และการละครมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผู้แสดงสองคน คือ อภินันท์  บัวหะภักดี  และ  วิโรจน์  ตั้งวานิช  เป็นนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มธ. ในช่วงเย็นของวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2519 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ได้จัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวงอีกครั้งหนึ่ง  การชุมนุมครั้งนี้นอกจากจะเพื่อรอคำตอบจากรัฐบาลแล้ว  เป็นการแสดงพลังของนักศึกษา  ประชาชน  ป้องกันการทำรัฐประหาร  เนื่องจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคนไม่พอใจ  การโยกย้ายตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2519 ท่ามกลางการชุมนุมฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก

สมาชิกแนวร่วมศิลปินฯ นั้น รับหน้าที่ผลิตงานโปสเตอร์  และภาพล้ออยู่ภายในตึกกิจกรรมของกลุ่มอิสระ มธ. หลังแท้งค์น้ำสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ สมาชิกอีกส่วนหนึ่งไปร่วมจัดทำเวทีที่ชุมนุมสนามหลวง สาเหตุที่ต้องแยกส่วนผลิตงานได้มีการพูดคุยกันก่อนหน้านี้แล้วว่า ขบวนการฝ่ายนักศึกษา  ประชาชน  ต้องการประสานการต่อสู้ครั้งนี้เข้ากับการเฉลิมฉลองครบรอบ  3 ปี  ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516  ผู้ทำกิจกรรมส่วนหนึ่งจึงต้องตระเตรียมงานสำหรับร่วมฉลองฯ แนวร่วมศิลปินฯ เป็นหน่วยงานกิจกรรมด้านสื่อที่ต้องใช้เวลาในการเตรียมงานด้านภาพและข้อมูลเพื่อจัดทำนิทรรศการ  จึงจำเป็นต้องแบ่งสมาชิกเป็นสองส่วน

เวลาประมาณเกือบสองทุ่มที่ฝนเทลงมา  ที่ชุมนุมได้ย้ายเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ทางผู้รับผิดชอบมหาวิทยาลัยได้ประกาศปิดมหาวิทยาลัยอย่างไม่มีกำหนดเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น  หนังสือพิมพ์ดาวสยามซึ่งเป็นคู่อริของขบวนการนักศึกษาประชาชนก้าวหน้าได้ลงรูปถ่ายการแสดงการแขวนคอของชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มธ. โดยมีการนำเอาภาพไปใช้เทคนิคตัดต่อ  จนรูปที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ดาวสยามกลายเป็นภาพที่มีหน้าคล้ายมกุฎราชกุมารจนแยกไม่ออก และนำออกเผยแพร่ พร้อมกับกล่าวหาว่า  นักศึกษามีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์  ต่อจากนั้น  สถานีวิทยุยานเกราะซึ่งเป็นศูนย์กลางในการใส่ร้ายขบวนการนักศึกษามาตลอด  ก็เริ่มโหมข่าวว่า  มีการทำหุ่นรัชทายาทแขวนคอ

ที่สามานย์ยิ่งคือ ออกข่าวใส่ร้าย ลาวัณย์  อุปอินทร์ (ดาวราย) อย่างเสียหายว่า  เป็นตัวการทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา  พร้อมกับปลุกระดมให้ฆ่านักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2519 หนังสือพิมพ์ดาวสยามและบางกอกโพสต์ได้พาดหัวข่าวในทำนองว่านักศึกษา “ต้องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เช่นเดียวกับวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรี  ก็เร่งออกข่าวบิดเบือนอย่างมีแผนชั่วร้าย  วิทยุในเครือข่ายชมรมวิทยุเสรีสองร้อยกว่าสถานีถูกบังคับให้ถ่ายทอดการกระจายเสียงของยานเกราะ  ซึ่งพยายามปลุกปั่นให้ผู้ฟังเกลียดแค้นนักศึกษา  ประชาชนที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ตลอดเวลา  โดยอ้างว่านักศึกษาจะทำลายโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์  วิทยุยานเกราะได้เรียกร้องให้กลุ่มกระทิงแดง  นวพล  ลูกเสือชาวบ้านทำลายล้างพวกที่ชุมนุมในธรรมศาสตร์  และให้ทำการประท้วงรัฐบาลเสนีย์ฯ ที่ตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่ให้ นายสมัคร  สุนทรเวช และ นายสมบุญ  ศิริธร  ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

สถานการณ์ในที่ชุมนุม  นักศึกษา  ประชาชนฝ่ายก้าวหน้ายังผนึกกำลังกันอยู่อย่างเหนียวแน่น  แม้เหตุการณ์ข้างนอกจะขมวดเกลียวทุกขณะก็ตาม  ผู้ทำกิจกรรมนักศึกษาขององค์กรต่างๆ ได้จัดกำลังร่วมกันไปเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยตามจุดล่อแหลมซึ่งคุ้นเคยกันดีตั้งแต่การชุมนุมในครั้งก่อนๆ สมาชิกแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยส่วนหนึ่งรับหน้าที่รักษาความปลอดภัยเหมือนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาพวกเราเข้มงวด  กวดขัน  ตรวจตราและค้นตัวผู้เข้าออกภายในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชนิดเรียงตัว  อย่างละเอียด  บทเรียนของการโดนระเบิดครั้งแล้วครั้งเล่าในที่ชุมนุมทำให้ต้องรอบคอบขึ้น  สมาชิกที่เตรียมงานภาพคัตเอาท์โปสเตอร์เพื่อฉลองครบรอบ 3 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคมฯ ก็หยุดงานมาช่วยดูแลที่ชุมนุม

ใกล้ค่ำยิ่งดูอึมครึมเข้าไปทุกขณะ มีใครจะรู้บ้างไหมว่าเหตุการณ์สุดหฤโหด กำลังย่างกรายเข้ามา  สถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีโหมปลุกระดมต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่อเหตุการณ์ถูกใส่ร้ายกลายเป็นเรื่องใหญ่  แกนนำนักศึกษาผู้นำชุมนุมจึงได้ตกลงกันดำเนินการดังนี้ แถลงข่าวเปิดเผยข้อเท็จจริงกับสื่อมวลชน ติดต่อรัฐบาลขอพบเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง  ซึ่งไม่สามารถทำได้ทันที เตรียมย้ายผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เพื่อเตรียมรับเหตุที่อาจรุนแรงขึ้น  และ จะให้มีการสลายการชุมนุม  ในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น  การสลายตัวในยามค่ำคืน  ซึ่งขณะนั้นถูกล้อมกรอบไว้หมดทุกด้าน  ไม่สามารถประกันความปลอดภัยของผู้ร่วมชุมนุมได้

ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเรื่องการแสดงละครว่าต้องการแสดงให้เห็นถึงความทารุณโหดร้ายที่เกิดจากการฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าที่นครปฐม  และการเลือกบุคคลทั้งสองมาแสดงเพราะน้ำหนักเบา  ไม่มีอุปสรรคในการแสดง

คืนนั้นรัฐบาลได้ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษ  และมีมติให้กรมตำรวจดำเนินการสอบสวนโดยด่วน

ทางด้านแกนนำผู้ชุมนุมซึ่งเตรียมดำเนินมาตรการไว้หลายอย่างนั้นสามารถทำไปได้เพียงประการเดียวคือแถลงข่าวให้สื่อมวลชนทราบเท่านั้น  ผู้ซึ่งทำหน้าที่รักษาการอยู่ตามจุดต่างๆ เห็นการเคลื่อนไหวภายนอกเป็นไปอย่างผิดปกติ  ได้แต่ตักเตือนกันให้ระมัดระวังตัวให้มากขึ้น  สมาชิกแนวร่วมศิลปินฯ ได้ไปประจำจุดที่หน้าหอประชุมใหญ่หลายคนร่วมกับแนวร่วมนักศึกษาอาชีวะและนักศึกษารามคำแหง  กลุ่มกระทิงแดงได้เผาป้ายบริเวณรั้วมหาวิทยาลัยด้านติดฟุตบาทถนนข้างสนามหลวง

กลางดึก ประมาณเที่ยงคืน อาวุธสงครามหลายชนิดถูกยิงเข้าไปกลางสนามฟุตบอลจากภายนอก  ขณะที่กำลังตำรวจทำการปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเหนียวแน่น  ไม่ให้คนที่อยู่ภายในเล็ดรอดออกมาได้ กระสุนหัวระเบิดตกกลางสนามฟุตบอลโดนผู้ชุมนุมที่นั่งอยู่กลางสนามเลือดไหลนองพร้อมเสียงครวญคราง  นักศึกษาเพาะช่าง  นิคม  รัตนคำแปง  และนักศึกษาหญิง ได้รับบาดเจ็บสาหัส  รวมกับผู้อื่นอีกหลายคน  พวกเรารีบลำเลียงคนเจ็บไปทางกำแพงด้านริมน้ำเจ้าพระยา  เนื่องจากด้านอื่นไม่สามารถออกไปได้แต่เรือก็ได้นำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลศิริราชได้ทันเวลา

หลังกระสุนสงครามตกลงกลางสนามฟุตบอล  ผู้ชุมนุมได้แตกกระจายหาที่หลบตามอาคาร ใต้ถุนตึก  โดยเฉพาะใต้ถุนตึกบัญชีมีผู้เข้าไปหลบมากกว่าตึกอื่น วิทยุยานเกราะได้ประโคมข่าวว่าภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ซ่องสุมอาวุธร้ายแรง  เช่น  ปืนกลหนัก  ฐานยิงจรวด  ลูกระเบิด  เพื่อหมายโค่นล้มสถาบันสูงสุด  เรื่องเหล่านี้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองย่อมรู้ดี  ถ้ามีอาวุธจริงพวกที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คงไม่ถูกปิดล้อมกรอบอย่างไม่มีการตอบโต้เช่นนี้  หลายครั้งที่มีข่าวใส่ร้าย  เมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้าไปตรวจค้น  ก็ไม่เคยพบหลักฐานใดๆ ที่ส่อเค้าไปในทางที่ถูกใส่ร้าย

หลังเที่ยงคืนไปแล้ว  พวกแกนนำและหน่วยรักษาความปลอดภัยต้องวิ่งประสานงานกันอย่างหนัก  สถานการณ์ที่เป็นอยู่เลวร้ายลงเรื่อย  หน่วยรักษาความปลอดภัยที่คุมจุดอยู่บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ผนึกกำลังกัน  จุดนี้เป็นจุดอันตราย  เป็นด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับทุกสิ่ง  ผู้ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยตรงจุดนี้ย่อมรู้อยู่แก่ใจทุกคน  ถ้าฝ่ายตรงข้ามบุกทะลวงด้วยอาวุธสงครามเข้ามา  พวกเขาไม่มีโอกาสรอดแน่นอน

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ก่อน 05.00 น. กลุ่มกระทิงแดงและฝ่ายขวาจัดที่อยู่หน้ามหาวิทยาลัยฯ พยายามจะบุกปีนขึ้นไปตรงรั้วแต่ไม่สำเร็จ เมื่อมีการตอบโต้จากหน่วยรักษาความปลอดภัย มีการใช้รถบัสขับเข้าชนประตู  และเผาป้อมยามหน้ามหาวิทยาลัย  สลับกับการระดมยิงด้วยอาวุธสงครามอย่างหนักหน่วงตลอดเวลา  ขณะเดียวกันนี้วิทยุยานเกราะได้ระดมกำลังฝ่ายขวาจัดมาชุมนุมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อเรียกร้องให้นายกเสนีย์จัดตั้งรัฐบาลใหม่  ให้ขับไล่ นายสุรินทร์  มาศดิตถ์  นายชวน  หลีกภัย  นายดำรง  ลัทธพิพัฒน์  ออกจากการเป็นรัฐมนตรี

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เสียงกระสุนจากอาวุธสงครามดังถล่มกึกก้องเข้าสู่ภายในอย่างบ้าดีเดือด  ปืนสงครามติดกล้องถูกประทับบ่าเล็งไปที่หน่วยรักษาความปลอดภัยหน้าบริเวณหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์  เมื่อสิ้นเสียงปืน ร่างของหน่วยระวังหน้าก็ล้มกองฟุบจมเลือดแดงฉานไปทีละคน ที่เหลือต้องซุกกายแอบเข้าที่กำบัง หลายคนถูกกระสุนสงครามดิ้นทุรนทุราย ร้องครวญคราง ตำรวจคอมมานโด  หน่วยปฏิบัติการพิเศษ  และตำรวจท้องที่ล้อมอยู่รอบมหาวิทยาลัย

เวลาประมาณ 08.00 น. ตำรวจตระเวนชายแดนอาวุธครบมือ  บุกจู่โจมเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ก่อนหน้านี้เล็กน้อย  สุธรรม  แสงปทุม  เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ นักแสดงละคร  และแกนนำนักศึกษาส่วนหนึ่งได้เดินทางไปพบนายกฯ เสนีย์ ที่บ้านซอยเอกมัย  แต่ปรากฏว่ายังไม่ทันได้พบก็ถูกตำรวจจับควบคุมตัวไปเสียก่อน  ธงชัย  วินิจจะกูล  ทำหน้าที่คุมเหตุการณ์ภายในของฝ่ายชุมนุม

เวลา 08.30 น. พลตำรวจตรีเสน่ห์  สิทธิพันธุ์  สั่งการให้ตำรวจตระเวนชายแดนเข้าเคลียร์ธรรมศาสตร์  ตำรวจตระเวนชายแดนได้บุกระดมยิงเข้าใส่กลุ่มนักศึกษามีผู้บาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก มนัส    เศียรสิงห์  และ  ทันพงษ์  รัศนานันท์  จากแนวร่วมศิลปินฯ ที่ไปช่วยรักษาความปลอดภัยหน้าหอใหญ่  ถูกระดมยิงหลายแห่งทั่วร่าง  ในขณะที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยตรงจุดเดียวกันถูกกระหน่ำจนขาดใจตายคาที่  แต่ร่างของ  แดง  มนัส  เศียรสิงห์  กลับถูกลากมากลางสนาม  โอริสสา  ไอยราวัณวัฒน์  ประธานแนวร่วมอาชีวะฯ ถูกยิงกรอกปาก  กระสุนฝังใน  นักศึกษาประชาชนผู้ชุมนุม  แตกตื่นวิ่งหนีอย่างเสียขวัญไปทางประตูมหาวิทยาลัยก็ถูกรุมตีรุมกระทืบ  จากความคลั่งความรุนแรงขวาจัด  นิสิตจุฬาลงกรณ์ปีสองและนักศึกษารามคำแหงถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัสยังไม่ทันสิ้นใจก็ถูกลากไปแขวนคอบนต้นมะขามสนามหลวง  แล้วร่างยังถูกหวดกระหน่ำด้วยแป๊บเหล็ก ของมีคม  จนร่างแหลกเหลวเสียชีวิตไปอย่างอเนจอนาถ

“ผู้รักษาการหน้าหอใหญ่ถูกยิงจนหมด  บางร่างตาไม่ยอมหลับจ้องดูผู้พิฆาตอย่างเด็ดเดี่ยว  บางร่างก็สงบนิ่งเหมือนหนึ่งว่าภูมิใจที่เขาได้พลีชีพให้กับอุดมการณ์ที่งดงามแล้ว”

เสียงจากเวทีของ ธงชัย วินิจจะกูล  ดังผ่านไมโครโฟนชัดเจนว่า “พี่ตำรวจกรุณาหยุดยิง  พวกเราชุมนุมอย่างสันติ  ไม่มีอาวุธ  ตัวแทนของเรากำลังเจรจากับรัฐบาลอยู่  ขอความกรุณาหยุดยิงเถอะครับ  พวกเรายอมแล้ว”  แล้วไมโครโฟนก็เงียบเสียงลงเมื่อ  ธงชัยฯ  ถูกตำรวจตะครุบตัว  ภายในสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์  สับสนวุ่นวาย  ผู้ชุมนุมกระเจิดกระเจิงถูกตำรวจตระเวนชายแดนไล่พิฆาต จารุพงษ์  ทองสินธุ์  นักกิจกรรมนักศึกษาธรรมศาสตร์ผู้เร่งให้ทุกคนทยอยจากตึก อมธ. และตึกนิติศาสตร์เพื่อไปยังตึกคณะวารสารศาสตร์  จะได้หาหนทางออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาถูกกระสุนสงครามกระหน่ำเข้าใส่ร่างจนทะลุและล้มลงแน่นิ่ง  กลุ่มขวาพิฆาตบ้าเลือดได้ตรงเข้าใช้ผ้าผูกคอเขา  แล้วลากร่างไร้วิญญาณไปทางกลางสนามฟุตบอล  ร่างของ  มนัส  เศียรสิงห์  แห่งแนวร่วมศิลปินฯ ยังไม่ขาดใจทันที  เขาถูกลากมารุมเหยียบ  และถูกตอกด้วยลิ่มอย่างทารุณก่อนสิ้นใจ  นักศึกษาบางคนถูกลากไปจากประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดนทำร้ายจนเจ็บสาหัส  ก่อนถูกราดด้วยน้ำมันเบนซินแล้วจุดไฟเผาโดยใช้ยางรถยนต์ทับ

ที่ประตูมหาวิทยาลัยด้านท่าพระจันทร์  ผู้ชุมนุมได้หนีตายมาออกันอยู่  ซึ่งตำรวจได้ปิดกั้นยืนรักษาการณ์เหนียวแน่น  ตำรวจที่รักษาการณ์หน่วยนี้เป็นตำรวจที่ถูกขอมาเสริมกำลังช่วย  ครั้งแรกที่ถูกขอร้องวิงวอนจากผู้ที่ติดอยู่ด้านในมหาวิทยาลัย  ด้วยความเห็นใจ  จึงเปิดให้ผู้ชุมนุมที่ติดอยู่ด้านในออกมาส่วนหนึ่ง แต่พวกที่รอดออกมาได้ไม่สามารถจะหนีไปไหนได้ไกล  เนื่องจากกำลังของเจ้าหน้าที่โอบล้อมอยู่เป็นชั้นๆ  จึงไปขออาศัยหลบบริเวณตึกแถวตรงท่าพระจันทร์หลายสิบราย  บ้างก็หลบเข้าไปในวัดมหาธาตุ  ขอพระอาศัยในกุฏิ  เมื่อฝ่ายขวาจัดทราบเรื่องจึงสับเปลี่ยนกำลังให้ ตชด. มาคุมประตูมหาวิยาลัยท่าพระจันทร์แทน ผู้ที่อยู่ภายในธรรมศาสตร์จึงไม่สามารถหนีออกมาได้อีก  หนำซ้ำได้ส่งกำลังเข้าตรวจค้นตึกแถวบริเวณท่าพระจันทร์  จับตัวผู้เข้าไปอาศัยหลบซ่อนได้หมด  ในวัดมหาธาตุ  กิตติวุฒโฑ  ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นตามกุฏิ  และจับตัวผู้เข้าไปซ่อนได้ส่วนหนึ่ง

ผู้ที่หลบซ่อนอยู่ในตึกคณะบัญชีฯ ธรรมศาสตร์ถูกยิงถล่มด้วยอาวุธหนัก บางรายเสียชีวิตเพราะไม่ยอมจำนน  กระจก  เศษแก้วจากอาคารตึกแตกเกลื่อน  นักศึกษาและผู้ชุมนุมถูกจับและให้คลานออกมาจากตึกที่เต็มไปด้วยเศษแก้ว  ตำรวจก็ยืนเรียงแถวอยู่ซ้ายขวา  ระดมเตะ กระทืบ  ตีด้วยพานท้ายปืน พร้อมคำด่าประนาม  นักศึกษาผู้ชุมนุมถูกต้อนไปอยู่กลางสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์  แล้วถูกบังคับให้นอนราบลงกับพื้น  ถูกบังคับให้ถอดเสื้อออกทั้งชายหญิง  ผู้หญิงให้เหลือไว้แต่เสื้อยกทรง  ขณะเดียวกันของมีค่าก็ถูกปลดออกจากตัว  เช่น  สร้อย  นาฬิกา  แหวนมีค่า  นักศึกษาและผู้ชุมนุมที่ประดังกันอยู่ที่บริเวณประตูท่าพระจันทร์ก็ถูกปล่อยให้วิ่งยาวไปเกือบทะลุถึงพระบรมมหาราชวัง  ด้านท่าช้าง  ซึ่งมีตำรวจอาวุธครบมือคอยสกัดอยู่เป็นแนวตลอดถนนมหาราช พวกเขาถูกบังคับให้ถอดเสื้อและนอนคว่ำลงกับพื้นที่ร้อนระอุ  เสียงปืนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังดังเป็นระยะจากที่ต่างๆ ภายหลังมีช่างภาพหนังสือพิมพ์เข้าไปพบร่างเปลือยไร้วิญญาณของผู้หญิงซึ่งถูกจับแก้ผ้าเอาไม้แหลมกระแทกช่องคลอดจนขาดใจตายในตึกแห่งหนึ่งของธรรมศาสตร์  ผู้ที่ทำเช่นนี้ได้ต้องเป็นคนที่อำมหิตผิดมนุษย์

ร่างของผู้เสียชีวิตในมหาวิทยาลัยถูกนำมารวมกองเอาไว้เป็นจุดๆ กลิ่นคาวเลือดของผู้รักความเป็นธรรมฟุ้งตลบทั่วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นแดนเลือดที่ผู้กระหายอำนาจขวาจัดใช้เป็นแหล่งพิฆาตผู้รักความเป็นธรรม โดยหวังเอาศพผู้สูญเสียชีวิตเป็นบันไดขึ้นไปสู่อำนาจ  ก่อนเที่ยงวันเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เคลียร์พื้นที่ในมหาวิทยาลัยได้เป็นส่วนใหญ่

เวลาบ่ายรถโดยสารจำนวนมากถูกใช้ให้บรรทุกนักศึกษาไปขังยังสถานที่หลายแห่ง  เช่นที่โรงเรียนพลตำรวจนครบาลบางเขน  ที่กำแพงแสน  นครปฐม  ที่ชลบุรี  เป็นต้น  ผู้ที่ถูกจับกุมทั้งสิ้นมีจำนวน 3,084 คน ผู้เสียชีวิตมีมากกว่า 100 คน  ส่วนแกนนำนักศึกษา  สุธรรม  แสงประทุมและเพื่อนอีก 18 คน  ถูกส่งขึ้นศาลทหารในเวลาต่อมา  สมาชิกแนวร่วมศิลปินฯ ถูกจับกุมในเหตุการณ์ไม่ต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์  และเสียชีวิตร่วมกับนักศึกษาประชาชน ตกเย็นกลุ่มขวาจัดที่ชุมนุมบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าและเคลื่อนไปทำเนียบ  ได้สลายตัวเมื่อนายกฯ เสนีย์  รับปากจะดำเนินการพิจารณาเรื่องที่กลุ่มขวาจัดเรียกร้อง

เวลา 18.00 น. คณะทหารที่เรียกตัวเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”  ได้ช่วงชิงตัดหน้าทหารขวาจัดอีกกลุ่มหนึ่ง  ทำร

Comment #1
หมี่ทระนง
Posted @March,01 2007 20.48 ip : 125...234

ขอบคุณครับ

Comment #2
jenifaae
Posted @February,01 2008 14.55 ip : 124...183

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวนะคะ
ถ้าว่างแวะบล๊อคนี้มั่ง ได้ลงรูปที่คุณสิงห์น้อยวาดในช่วงนั้นไว้ค่ะ แต่ยังไม่สมบูรณ์ www.sanamluang.bloggang.com

แสดงความคิดเห็น

« 7995
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ