บทความ

มองวรรณกรรมในฐานะนักประวัติศาสตร์ นิธิ เอียวศรีวงศ์

by . @May,06 2006 21.50 ( IP : 58...118 ) | Tags : บทความ

มองวรรณกรรมในฐานะนักประวัติศาสตร์ นิธิ เอียวศรีวงศ์

คัดลอกจากถนนหนังสือ ปีที่๔ ฉบับที่๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๙

ฅนที่มีอาชีพอยู่ในวงวิชาการประวัติศาสตร์จะกระดากใจมาก ที่จะพูดถึงอะไรในฐานะนักประวัติศาสตร์ ถ้าผมแปลชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่าA Historian's view of Literary Study ก็ไม่เป็นไร สามารถพูดได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ผมก็มาพบคำว่า Historian ซึ่งโดยทั่วไปเรามักแปลว่า "นักประวัติศาสตร์" เอาเข้าจริงๆ แล้วในภาษาไทยนั้นไม่ใช่ คำว่า "นักประวัติศาสตร์" ในภาษาไทยไม่มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษโดนตรง เพราะเหตุว่าสมัยที่เราเริ่มมีการศึกษาประวัติศาสตร์แบบใหม่ในประเทศไทยเรามา ไม่มีใครกล้าเรียกตัวเองว่า "นักประวัติศาสตร์" สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งว่ากันว่าเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์แบบใหม่ ท่านก็เรียกตัวท่านเองว่า "นักศึกษาพงศาวดาร" ไม่กล้าเรียกตนเองว่า "นักพงศาวดาร" หรือ "นักประวัติศาสตร์"

    ต่อมาภายหลังสมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ก็ไม่มีอีกเหมือนกันที่กล้าเรียกตัวเองแบบนั้น แต่สามารถเรียกฅนอื่นได้ว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ ผมสามารถเรียกอาจารย์ประเสริฐ ณ นครและอาจารย์ประเสริฐก็สามารถเรียกผมว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ได้ ตรงกันข้าม ในภาษาอังกฤษใครถามผมจะบอกได้เลยว่า ผมเป็น Historian ไม่มีการกระดากกระเดื่อง ที่จริงแล้วคำว่า "นักประวัติศาสตร์" ในภาษาไทยมีความหมายในเชิงยกย่องอยู่ด้วย เหมือนกับคำว่า "ศิลปิน" ก็มีความหมายในเชิงยกย่องเหมือนกัน ในขณะที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า Artist ฅนที่พูดว่าตนเองเป็น Artist ไม่รู้สึกกระดากใจ มันก็เป็นอาชีพเหมือนช่างตัดผมอย่างหนึ่งนั้นเอง

    ผมพูดเรื่องนี้เพื่อที่จะบอกว่า การแปลวรรณกรรมไม่ว่าจะเป็นภาษาใดสู่ภาษาใดก็ตามแต่มันทำไม่ได้กันเลยเพราะว่าเวลาเราพูดถึงวรรณกรรมเราก็จะพูดถึงความหมายไปด้วยคำว่า "ความหมาย" มีความหมายอย่างไร ผมว่าอย่างน้อยที่สุด มันควรจะคลอบคลุม ๓ จุดใหญ่ ด้วยกัน

    ประการแรกก็คือ ความหมายของความหมาย คือศัพทืที่เราใช้แทนสิ่งต่างๆ นั้นเอง เช่น โต๊ะแทนไอ้ตัวที่มี ๔ ขา มันเป็นความหมายของความหมายพื้นๆ โดยทั่วไป

    ประการที่สองก็คือว่า นอกจากมันมีคำว่าอะไรแทนอะไรแล้ว มันก้ยังมีคำว่าอะไรที่แทนอะไรโดยเหลื่อมล้ำกันอยู่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกคำที่เป็นลักษณะของอารมณ์ ความรู้สึก และความคิด จะมีลักษณะที่เลื่อมล้ำกันมากๆ การเลื่อมล้ำกันของความหมายเหล่านี้ เวลาที่เราแปลวรรณกรรมจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง เราจะพบว่าฅนในแต่ละวัฒนธรรมจะเอาความเลื่อมล้ำของความหมายของคำนี้มาวางเปรียบโดยไม่เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นเมื่อไรก็ตามเมื่อพูดถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นความคิด เมื่อนั้นความเหลื่อมล้ำของความหมายจะก่อให้เกิดปัญหาเสมอ เราไม่สามารถจะแปลวรรณกรรมภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่งให้ตรงตาม ความหมายที่เขาใช้กันแท้จริงได้

  ประการที่สาม ความหมายโดยนัยประหวัด ความหมายนั้นอาจจะตริงกันถ้าแปลตามตัวอักษร แต่คำทุกคำในภาษาใดๆนั้นมีนัยประหวัดคือเมื่อเราได้ฟังหรือได้อ่านคำนั้น จะทำให้เรานึกถึงสิ่งอื่นๆ ตามไปด้วย นัยประหวัดของคำจะไม่ตรงกันทุกภาษาเหมือนกัน ยกตัวอย่างคำว่า "แย่งราชสมบัติ" ผมพึ่งมารู้เมื่อสัก ๒-๓ ปีมานี้ ผมแปลคำว่า "ชิงราชสมบัติ" เป็นภาษาอังกฤษออกมาเป็น "usurpation" เพื่อฝรั่งอังกฤษบอกผมว่า เฮ้ยไม่ได้ แล้วผมถามว่าแปลว่าอะไร มันก็บอกไม่รู้เหมือนกัน เพราะว่า "usurpation" ในภาษาฝรั่งนั้นมันรุนแรงมากเหลือเกิน เมืองฝรั่งตามที่เราเรียนประวัติศาสตร์มาแล้วนี่ คงจำกันได้ว่ามันไม่ค่อยจะแย่งราชสมบัติกันเพราะเป็นบาป มโหฬารของฝรั่ง ไม่ใช่ทำกันได้ง่ายๆ แต่ในเมืองไทยมันไม่ใช่การยาก เพราะเป็นประเพณีทางการเมืองอย่างหนึ่งที่ทำกันเป็นเวลานานหลายร้อยปีแล้วฉะนั้นฅนไทยจะมีความรู้สึกต่อคำว่า "แย่งราชสมบัติ" แบบ "กลางๆ" ก็แย่งกันตลอดเวลาจนเกิดเป็นภารกิจไปแล้ว นี่คือนัยประหวัดของคำ

    อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ผมคิดว่าเมื่อเราพูดถึงเรื่องความหมายก็ต้องนึกถึงด้วยคือเรื่องรูปแบบ รูปแบบเป็นสิ่งที่ให้ความหมายโดยที่เราไม่รู้สึกตัวเลยก็ว่าได้ เป็นต้นว่ารูปแบบของกลอนเพลงช่วบ้าน โดยทั่วไปแล้วเราจะไม่พบคำประนามพจน์หรือคำเฉลิมพระเกียรติทั้งหลายในรูปแบบนี้ เช่น กลอนลำตัดไม่มีความหมายที่จะใช้ไปในเชิงในทางศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นรูปแบบการสื่อความหมายด้วย เมื่อไรที่คุณเขียนกลอนรำตัดเฉลิมพระเกียรติ มันจะให้ความหมายอีกอย่างโดยที่เราไม่ตั้งใจ อาจจะต้องติดคุกก็ได้ เพราะมันมีความแทรกอยู่ในรูปแบบเบ็ดเสร็จในตัวของมันเอง

    ในภาษาไทยเรานั้นมีกลอนประเภทหนึ่งเรียกว่า "กลอนแปด" แปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างไรไม่รู้เหมือนกัน แต่ในแง่หนึ่งมันคล้ายๆ "ballad" ในภาษาอังกฤษซึ่งเป็นที่นิยมกัน แต่ไม่จำกัดวงแคบๆ ว่ากลอนแปดตรงกับ "ballad" ไม่ได้ เพราะมันคือกลอนแปด แปลเป็นภาษาฝรั่งได้ว่า "Klon" กับเลข ๘ และมีความหมายแทรกอยู่ในรูปแบบมากทีเดียว รูปแบบของบทกวี นวนิยาย เรื่องสั้น ความเรียง ล้วนแต่มีความหมายแทรกอยู่แทบทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้เวลาที่เราพูดถึงรูปแบบก็คือเรื่องของความหมายนั้นเอง ผมขอย้ำก่อนนะว่าความหมายนั้นไม่ได้มีมากับโลกของเรา มนุษย์เป็นผู้ให้มันเสมอ พระอาทิตย์มันไม่มีความหมายอะไร มันขึ้นมันตกมาก่อนหน้านี้แล้ว มนุษย์ก็มาให้ความหมายว่ามันขึ้นมันตก โลกนี้เป็นโลกที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยความหมายแทบทั้งสิ้น ซึ่งจะสัมพันธ์กับสังคม วัฒนธรรม เศรฐกิจและการเมืองของมนุษย์ตามแบบสันดานของแต่ละสังคม อันนี้เป็นหลักสำคัญที่สุดของนักประวัติศาสตร์

    กล่าวกันว่านักประวัติศาสตร์ต่างกับนักสังคมศาสตร์ตรงที่ว่า นักประวัติศาสตร์จะให้ความสำคัญแก่ "บริบท" คือให้ความสำคัญแก่ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัว กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ให้ความสำคัญกับสิ่งเฉพาะค่อนข้างมาก ถ้าพูดในแง่ของวรรณกรรม เราก็ควรทราบว่ามันถูกสร้างขึ้นมาในวัฒนธรรม เศรฐกิจ การเมือง หรือในสังคมอย่างใดนั้นเอง จึงจะเข้าถึงความหมายของวรรณกรรมอย่างถ่องแท้ แล้วเมื่อเข้าใจความหมายได้แล้วต่างหาก เราจึงจะเข้าใจเจ้าตัววรรณกรรมได้อย่างแท้จริง

    ตามที่นักประวัติศาสตร์ถูกเสี้ยมสอนให้มีสันดานสนใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นั้นเพราะเหตุที่เราสนใจต่อความแตกต่าง นักสัมคมศาสตร์ทั่วไปจะสนใจกับความเหมือนกัน เช่น ขบถชาวอิตาลี ในสเปนในจีนและในไทย เขาต้องการทราบบางอย่างที่เหมือนกัน ผู้ที่เรียนประวัติศาสตร์ไม่ปฏิเสธ แต่จะให้ความสนใจไม่น้อยกว่าความเหมือนกัน ขบถชาวนาในแต่ละประเทศย่อมมีบางอย่างเฉพาะของมัน เพราะมันเกิดในสังคมที่ไม่เหมือนกัน

    ด้วยเหตุนี้การศึกษาวรรณกรรมถ้ามองในแง่ของประวัติศาสตร์  การให้ความสนใจต่อสภาพแวดล้อมของการเกิดวรรณกรรมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสุดยอด
กลับมาสู่เรื่องการแปลวรรณกรรมอีกครั้ง เราจะเห็นว่าการแปลภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่งนั้นจะพบคำแปลไม่ได้มากมายเหลือเกิน เพราะคำมันผูกพันกับวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกับอีกภาษาหนึ่ง ยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย ผมจากกรุงเทพไม่เคยได้ยินคำว่า "เหมย" เลยในชีวิต มาได้ยินครั้งแรกเมื่ออยู่เชียงใหม่แล้ว ตอนหลังจึงเข้าใจว่าคืออะไร พูดตามสภาพทางภมิศาสตร์ "เหมย" ก็คือเมฆที่มันลอยมาชนหัวเรา เพราะทางเหนือพื้นที่สูงมีโอกาสลอยต่ำลงมาปะทะตัวเราได้ ซึ่งในภาษากลางไม่มีคำว่า "เหมย"
            หรืออย่างคำว่า "หิมะ" ในภาษาฝรั่งก็คือ "Snow" ฅนไทยไม่เคยเห็นเลย แต่ฝรั่งรู้จักนิดหน่อย เพราะมี "Snow" ตกในประเทศเขา และเรียกมันว่า "Snow"  อย่างเดียว แต่ถ้าเทียบกับภาษาเอสกิโมจะเห็นชัดว่า ภาษาเอสกิโมมีคำ "หิมะ" กว่า ๑๐ คำ เช่นหิมะเหลว หิมะแผ่น หิมะก้อน หิมะอะไรบ้าบอมากมาย เพราะฉะนั้นถ้าเอาคำว่า "หิมะแผ่น" มาแปลเป็นภาษาไทยหรือภาษาฝรั่งก็จะแปลไม่ออก จะขาดนัยประหวัด หรือคำว่า "เกรงใจ" ในภาษาไทย แปลเป็นภาษาฝรั่งก็จะได้คำที่ไม่ตรงกัน เพราะมันเกิดเฉพาะความสัมพันธ์แบบสังคมไทยเท่านั้น

    ใครที่คิดจะแปลวรรณกรรมจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่ง ถ้าคิดให้รอบคอบจะมีทางเลือก ๒ ทางคือ หาเรื่องกระอักเลือดตายหรือมิฉะนั้นก็เลิกคิดเรื่องการแปลไปเลย ผมสงสัยเสมอว่าเราเรียนเกี่ยวกับวรรณกรรมแปลกันไปเพื่ออะไร เพราะวรรณกรรมแปลคุณค่ามันกลายไปแล้ว การเรียนเพื่อจะเอาคุณค่าทางวรรณกรรมมันไม่มี แต่ในทางตรงกันข้าม การศึกษาวรรณกรรมแปล เช่นเวสสันดรชาดกซึ่งเป็นวรรณกรรมแปลที่เก่ามากของไทยผมทราบมาว่าเคยมีการศึกษาเทียบเคียงกับมหาชาติคำหลวงกับฉบับภาษาบาลี พบว่ามันได้มีการต่อเติมเสริมแต่งมากมายเหลือเกิน ฉะนันไอ้ตัววรรณกรรมแปลงหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความสามารถที่พยายามที่จะแสดงออกซึ่งความงามในทางวรรณกรรม ในภาษาไทยหรือในวัฒนธรรมไทบถูกซ่อนเอาไว้ในวรรณกรรมแปลงต่างหากจึงจะมีความหมาย

    ขยับมาอีกขั้นหนึ่ง ความหมายที่ใช้ในสังคมเดียวกันแต่ต่างเวลากันก็อาจแตกต่างกันได้ ชนิที่ว่าถ้าไม่ระวังให้ดีแล้ว เราก็อาจจะไม่สามารถเข้าใจวรรณกรรมนั้นได้ถูกต้อง เพราะเราจะเอานัยประหวัด  เอารูปแบบเอาความหมายของความหมายปัจจุบันทั่วไปเข้าไปใส่แก่วรรณกรรมโบราณ เป็นต้นว่า ในจารึกสมัยสุโขทัยทั้งหมด ผมพบว่ามีคำว่า "พระ" ที่เขามักเรียกว่า "ภิกษุ" คงไม่มีใช้เลยในสมัยสุโขทัย ถ้าจะมีก็เพียงแห่งเดียวเท่านั้นแล้วจะมีความหมายถึงพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ปัญหาที่ตามมาก็คือว่านัยประหวัดของคำนั้น ปัจจุบันเราเรียกพระนารายณ์ไม่รู้สึกอะไร หมายถึงพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง เพราะเราเอาคำว่า "พระ"ไปใส่เพื่อให้รู้ว่ากำลังพูดถึงพระเจ้าแผ่นดินย้อนไปในสมัยอยุธยา เมื่อพูดคำว่าพระนารายณ์ ความรุ้สึกของฅนในยุคนั้นคงแตกต่างจากปัจจุบันมากทีเดียว เพราะฉะนั้นคำๆ เดียวกัน แต่ต่างยุคสมัยกันมันก็เปลี่ยนแปลง วรรณกรรมที่ต่างยุคสมัยกันไม่สามารถจะเข้าใจได้ง่ายๆ โดยปราศจากความพยายามที่จะเข้าใจความหมายของคำที่ถูกใช้ในสมัยที่มันเขียนขึ้น นี่ก็เป็นหลักสำคัญของการศึกษาวรรณกรรมในฐานะนักประวัติศาสตร์ เราให้ความสำคัญของความแตกต่างทางด้านเวลาเสมอ

    ดังนันในการศึกษาวรรณกรรมเราจึงควร "ดัน" มันกลับไปในบริบทหรือสิ่งแวดล้อมของมันในยุคนั้น ในทัศนะของผม ถ้าไม่ให้ควาสำคัญแก่สิ่งแวดล้อม ของการเกิดวรรณกรรมก็เป็นการศึกษาที่ไม่ค่อยเกิดความหมายเท่าใดนัก ในทำนองเดียวกัน วรรณกรรมร่วมสมัยจะมีความหมายหรือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมได้ก็ต่อเมื่อ เราเข้าใจเงื่อนไขของเวลาปัจจุบัน เข้าใจสภาพของสังคมปัจจุบัน ใครเป็นฅนอ่านใครเป็นฅนเขียน มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจวรรณกรรมได้เลย

    เมื่อสรุปแล้ว ถ้ามองวิชาวรรณกรรมกับประวัติศาสตร์ควบคู่กันไป ก็จำเป็นต้องศึกษาโดยการทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมของวรรณกรรมนั้นๆ ถ้าเราเข้าใจในสิ่งนี้ ก็จะเกิดความสัมพันธ์กันไปมาระหว่างการศึกษาวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เพราะทั้งสองสิ่งคือกระจกสะท้อนสิ่งที่เหมือนกัน

    ที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้มีนักวรรณคดีจำนวนไม่ไม่ไม่เชื่อในสิ่งที่ผมพูด เพราะเขาเชื่อว่าวรรรกรรมมีคุรค่าไม่ผูกพันกับเวลาไม่ผูกพันกับสถานที่ที่แผงอยู่ในงานวรรณกรรมเช่นเราสามารถอ่านพระไตรปิฎกโดยไม่ต้องรู้อะไรเกี่ยวกับเจ้าชายสิทธัตถะเพราะมีบางสิ่งทรงคุณค่านิรันดร์อยู่ในนั้น กระทั่งบางฅนอาจบอกว่า เจ้าชายสิทธัตถะจะมีจริงหรือไม่สำคัญ ขอให้เชื่อในเรื่องพุทธะก็แล้วกัน ก็ไม่เป็นไร ส่วนตัวผมไม่เชื่ออย่างนั้น ไม่เชื่อว่าความงาม ความจริง จะมีเป็นสากลในโลกนี้ เพราะผมไม่ได้ยืนอยู่ในมุมที่จะมองวรรณกรรมในลักษณะเดียวกัน

    พูดถึงตรงนี้ผมจึงกล้ากล่าวว่า ผมไม่เชื่อในรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ผมเชื่อว่ามันเป็นการหลงตัวเองของฅนผิวขาว ไม่มีวรรณกรรมใดที่จะดีเหนือวัฒนธรรมของชนชาติต่างๆ ได้ ถ้าใครอยากได้รางวัลโนเบลมี ๒ อย่างคือ หนึ่งเปลี่ยนสมองให้เป็นฝรั่ง และสองต้องอยู่ในชาติที่ฝรั่งอยากยกขึ้นมาเหยียบกันเอง เขาจะยกรางวัลโนเบลให้ทันที

    ท้ายสุดนี้ผมขอเสนอสักหน่อยว่า การศึกษาวรรณกรรมของไทยเรานั้นเราไม่ได้สร้างเครื่องมือกันขึ้นมาอย่างเพียงพอ ทั้งทีสามารถสร้างขึ้นมาได้หลายด้านด้วยกัน เช่น พจนานุกรมที่บอกประวัติและที่มาของคำแต่ละคำที่มันถูกใช้ในแต่ละสมัยและมีนัยประหวัดอย่างไร เพื่อบอกการคลี่คลายความหมายของคำ ไม่ใช่เรื่องยาก ทำฉบับห่วยๆ ออกมาก่อน แล้วฉบับดีๆ ก็จะตามมาเอง

    อย่างที่สองผมคิดว่า วรรณกรรมทั้งหลายในโลกเกิดขึ้นโดยผูกพันกับจารีตทางวรรณกรรมของแต่ละสังคม ฉะนั้นเราจึงควรเก็บข้อมูลเกี่ยวกับจารีตวรรณกรรมไว้อย่างมีระบบเพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษาวรรณกรรมให้ลึกซึ้ง เช่นรูปแบบแต่ละอย่างสื่ออะไร ใช้ในตอนใด ให้อารมณ์อะไรบ้าง และสมัยต่อมาใช้กันอย่างไร เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาวรรณกรรม

    อย่างที่สามคือ การศึกษาค้นหาตัววรรรกรรมที่แม้จริง เช่น พระลอตัวจริงเมื่อตอนที่เขาแต่งขึ้นมาหน้าตาเป็นอย่างไร เราสามารถตรวจสอบจากหลายๆ ฉบับ การศึกษาในแง่นี้จะก่อให้เกิดผลคือ เราจะได้ตัววรรณกรรมที่แท้จริง และเรายังจะได้ความรู้อะไรแปลกๆ เพิ่มขึ้นอีก

    อย่างสุดท้ายที่อยากฝากคือ การศึกษาวรรณกรรมมุขปาฐะ เราควรต้องทำการศึกษาและเก็บรวบรวมไว้อย่างมีระบบพูดไปแล้วก็เสียดาย เพราะวรรณกรรมชนิดนี้หายไปในอากาศกว่า ๘๐%แล้ว ที่เราเรียกว่าวรรรกรรมไทยในปัจจุบันนี้ มันคือวรรณกรรมอยุธยากับกรุงเทพฯ และก็ไม่ใช่วรรณกรรมของประชาชนทั้งประเทศด้วยแต่มันเป็นวรรณกรรมที่กระจุกอยู่ในราชสำนักเท่านั้น

**ปาฐกถาของนิธิ เอียวศรีวงศ์นี้ ชมรมภาษาไทยร่วมกับภาควิชาภาษาไทยของมนุษย์ศาสตร์ มช. จัดขึ้นในเดือนสิงหาคม ๒๕๒๙

แสดงความคิดเห็น

« 0591
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ